วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554
Sonya Kovalevskaya สตรีนักคณิตศาสตร์ผู้มีความสามารถไม่แพ้บุรุษ
ในอดีตสตรีมีปัญหาด้านความสามารถคือไม่ได้เป็นที่ยอมรับโดยบุรุษ แต่ความสำเร็จทางคณิตศาสตร์ของ Sonya Kovalevskaya ได้มีบทบาทในการทำให้โลกยอมรับว่า สตรีก็มีความสามารถด้านนี้พอๆ กับบุรุษ
Sophia Krukovskaya เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1850 ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ครอบครัว Krukovskaya มีทายาท 3 คน เป็นชาย 1 คน และหญิง 2 คน โดยบุตรสาวคนโตชื่อ Aniuta และบุตรสาวคนเล็กชื่อ Sophia หรือ Sonya (ซึ่งเป็นชื่อที่เธอใช้เรียกตนเองในเวลาต่อมา) บิดามีเชื้อชาติฮังการี ที่ได้รับการศึกษาน้อย แต่สามารถพูดภาษาอังกฤษกับฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนมารดามีเชื้อชาติเยอรมัน บรรพบุรุษได้อพยพมารัสเซีย แม้มารดาของ Sophia จะเป็นสตรีไฮโซที่ชอบเล่นเปียโน แต่เธอก็เหมือนกับสตรีคนอื่นๆ ในสมัยนั้นคือ แทบไม่ได้รับการศึกษาเลย และการที่เธอมีสามีที่มีอายุมากกว่า 20 ปี คนทั้งสองจึงมีนิสัยแตกต่างกันมาก เธอจึงรู้สึกถูกเมินและถูกทอดทิ้งบ่อย
ประวัติญาติของ Sophia ทั้งฝ่ายบิดาและมารดา แสดงว่าญาติฝ่ายบิดาไม่มีใครได้รับการศึกษาสูง แต่ญาติฝ่ายมารดามีคนที่เคยเป็นสมาชิกของสถาบัน St. Petersburg Academy และเป็นผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ กับคณิตศาสตร์ เพราะเคยได้เขียนจดหมายวิชาการติดต่อกับนักคณิตศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง เช่น Gauss และ Laplace
เมื่อบิดาของ Sophia เกษียณราชการทหาร ครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ที่เมือง Palibino ซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง St. Petersburg กับ Kiev Sophia วัย 8 ขวบเล่าว่าผนังบ้านใหม่ของเธอมีกระดาษบุผนัง (wallpaper) ติดเต็ม โดยพ่อสั่งซื้อกระดาษเหล่านี้มาจากเมือง St. Petersburg แต่เมื่อกระดาษบุผนังมีไม่พอ พ่อจึงต้องเอากระดาษอื่นมาเสริม เมื่อได้พบกระดาษเก่าๆ ในห้องเก็บของเหนือเพดาน จึงนำกระดาษเหล่านั้นมาใช้ต่างกระดาษบุผนัง แต่กระดาษเก่าที่เหลืองกรอบนั้น เดิมเป็นกระดาษจดบันทึกวิชาแคลคูลัสที่ M.V.Ostragradsky ผู้มีชื่อเสียงได้เคยใช้เขียน ดังนั้นเนื้อหาและข้อความบนกระดาษจึงมีสัญลักษณ์มากมายที่ Sophia อ่านไม่ออก แต่เธอก็รู้สึกว่าอักษร “hieroglyph” เหล่านั้นน่าสนใจ จึงใช้เวลาอ่านข้อความจากกระดาษบุผนังนานเป็นชั่วโมง จนเริ่มเข้าใจความหมายของคำว่าขีดจำกัด (limit)
Sophia มีลุงสองคน คนหนึ่งสนใจชีววิทยา อีกคนสนใจคณิตศาสตร์ Sophia ได้ยึดแบบอย่างการเรียนเจริญรอยตามลุงทั้งสองคน แต่ในที่สุดก็รู้ว่าชอบและรักคณิตศาสตร์มากกว่าชีววิทยา และเมื่อนักฟิสิกส์ชื่อ Nikolai Nikanorovich Tyrtov ผู้เป็นเพื่อนของครอบครัว ได้ฟัง Sophia วิพากษ์วิจารณ์ผลงานตรีโกณมิติของ Tyrtov อย่างลึกซึ้ง เขาจึงบอกบิดาของ Sophia ให้ส่งเธอไปเรียนคณิตศาสตร์ขั้นสูง พ่อจึงให้เธอไปเรียนที่มหาวิทยาลัย St. Petersburg ขณะเรียนที่นั่น ครูที่สอนแคลคูลัสพบว่า Sophia เรียนแคลคูลัสได้เร็วมาก เพราะเธอได้ศึกษาคณิตศาสตร์ชนิดนี้จากกระดาษบุผนังที่บ้านมาก่อนนั่นเอง
ในสมัยนั้นสตรีรัสเซียไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือถึงระดับปริญญา ดังนั้น Sophia และพี่สาวจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อความก้าวหน้าของชีวิต แต่การจะทำเช่นนั้นได้ สตรีต้องให้สามีอนุญาต หรือมิฉะนั้นก็ต้องมีพี่เลี้ยงตามไปดูแล ดังนั้นวิธีที่ผู้หญิงโสดชาวรัสเซียนิยมใช้คือ หาผู้ชายมาจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่ให้เป็นได้แค่สามีในนามเท่านั้น
ในที่สุดคนทั้งสองก็ได้ Vladimir Onufrievich Kovalevskaya มาสวมบทบาทสามีจำเป็นให้ ขณะนั้น Sophia มีอายุ 15 ปี พิธีแต่งงานสมมติได้ถูกจัดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 1868 Sophia จึงเปลี่ยนทั้งชื่อและนามสกุลเป็น Sonya Kovalevskaya ซึ่งเป็นชื่อที่โลกรู้จักในเวลาต่อมา
จากนั้น Sonya สามี Vladimir และ Anuita พี่สาวก็เดินทางไปเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อถึงที่หมาย Anuita ได้เดินทางต่อไปปารีส ส่วน Sonya กับสามีเดินทางไปเยอรมนี โดย Sonya ได้รับอนุญาตให้เรียนวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Heidelberg กับนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Bunsen, Helmholtz และ Kirchhoff รวมถึงได้เรียนคณิตศาสตร์กับ Konigsberger ผู้เป็นศิษย์คนโปรดของ Karl Weierstrass ด้วย
แม้วิชาที่เรียนจะยากมากแต่ Sonya กับสามีก็มีเวลาเดินทางไปพบนักชีววิทยาชื่อ Charles Darwin และ Thomas Huxley รวมทั้งได้มีโอกาสสนทนาปรัชญากับ Herbert Spencer ด้วย
เมื่อทั้งสองเดินทางกลับถึงเยอรมนี ก็ได้ตัดสินใจแยกทางชีวิตกัน เพราะ Vladimir ผู้มีหัวรุนแรงสนใจการเมือง และไม่สนใจคณิตศาสตร์เหมือนภรรยา การหย่าร้างจึงไม่ได้ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียใจ เพราะการสมรสไม่ได้เกิดจากความรักตั้งแต่ต้นแล้ว
ในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1870 Sonya ได้เดินทางไปเบอร์ลิน เพื่อพบ Weierstrass ผู้ได้ทดสอบความรู้ทางคณิตศาสตร์ และ Weierstrass วัย 55 ปี รู้สึกประทับใจ Sonya ซึ่งขณะนั้นอายุ 20 ปี จึงตัดสินใจสอนคณิตศาสตร์ให้เธอเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้เพราะกฎของมหาวิทยาลัย Berlin ในขณะนั้น ห้ามผู้หญิงเรียนคณิตศาสตร์
ขณะที่ Sonya เรียนคณิตศาสตร์ Weierstrass ได้พบว่า ไม่ว่าเขาจะสอนอะไร Sonya ดูกระตือรือร้นจะเรียนไปหมด การซักถาม และวิธีการอภิปรายของเธอได้ช่วยให้เขาเข้าใจเนื้อหาที่สอนเธอดียิ่งขึ้น ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองจึงมีมากกว่าระดับครูกับศิษย์ วิธีคิดและวิธีทำงานของ Weierstrass ได้เข้ามามีบทบาททั้งในชีวิตส่วนตัว และชีวิตทำงานของ Sonya มากในเวลาต่อมา Weierstrass ได้เขียนจดหมายแสดงความคิดถึงเธอบ่อย โดยในปี ค.ศ. 1873 ขณะ Weierstrass เดินทางไปพักร้อน เขาได้เขียนจดหมายระบายความคิดว่า เขาอยากให้เธอเดินทางมาเที่ยวชมภูมิประเทศแถบนั้นด้วย เพื่อจะได้สนทนาวิชาการกัน เพราะเวลาที่เธอถามโจทย์ สมองของเขาเสมือนได้รับการกระตุ้นให้ทำงาน แล้วเราสองคนก็จะวิจัยเรื่อง finite space และโจทย์เกี่ยวกับเสถียรภาพของสุริยะจักรวาล Weierstrass ลงท้ายจดหมายทำนองว่า เขาไม่เคยมีใครที่ทำให้เขาเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้มากและดีเท่าเธอ ซึ่งทำให้เขามีความสุขมาก แต่ Weierstrass มักรู้สึกเช่นนี้เพียงข้างเดียว เพราะในบางครั้ง Sonya ไม่ได้ตอบจดหมายของ Weierstrass นานเป็นปี
เมื่อ Weierstrass ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย Berlin เขาได้สนับสนุนและให้กำลังใจ Sonya ซึ่งสนใจวิจัยสมการอนุพันธ์ย่อย (partial differential equation) โดยให้เธอไปเรียนคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Georgia Augusta เพราะที่นั่นอนุญาตให้ผู้หญิงเรียนถึงระดับปริญญาเอกได้
Sonya เรียนสำเร็จปริญญาเอกระดับเกียรตินิยม ขณะอายุ 25 ปี โดยได้เขียนวิทยานิพนธ์สองเรื่อง เรื่องแรกเกี่ยวกับวิธีการแก้สมการอนุพันธ์ย่อย และเรื่องที่สองเกี่ยวกับรูปทรงของวงแหวนดาวเสาร์ ซึ่งเนื้อหาที่เกี่ยวกับกลศาสตร์ของดาวเสาร์นี้ เธอไม่ต้องพึ่งพาความคิดของ Weierstrass เลย
งานวิจัยเรื่องวิธีการแก้สมการอนุพันธ์ย่อยของ Sonya ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Crelle แต่มีนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Augustin Cauchy ซึ่งได้ศึกษาประเด็นที่ Sonya สนใจนี้เหมือนกัน แต่งานพิสูจน์ของ Cauchy ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากสมการอนุพันธ์ย่อยลำดับหนึ่งตามปกติมีตัวแปรอิสระมากมาย และวิธีของ Cauchy เป็นกรณีเฉพาะ ส่วน Sonya เสนอวิธีแก้สมการในกรณีทั่วไป ดังนั้นจึงมีทฤษฎี Cauchy-Kovalevskaya เกิดขึ้นในโลก
ผลงานคณิตศาสตร์เรื่องสมการอนุพันธ์ย่อยนี้ทำให้ Sonya ได้รับการยกย่องจากบรรดานักคณิตศาสตร์ของรัสเซียในเมือง St. Petersburg มาก ถึงกระนั้นเมื่อเธอเดินทางกลับรัสเซีย เธอก็ยังมีปัญหาในการหางานทำ เพราะถึง Sonya จะเป็นด๊อกเตอร์ แต่รัฐบาลก็อนุญาตให้เธอสอนได้เฉพาะระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น
ในปีค.ศ. 1875 Sonya ได้ต้อนรับแขกสำคัญคนหนึ่งชื่อ Mittag – Leffler ผู้เคยเป็นศิษย์ของ Weierstrass เดียวกับเธอ การสนทนาและการทำงานร่วมกับ Sonya ทำให้ Mittag – Leffler หลงใหลและเลื่อมใสในความเป็นสุภาพสตรีที่เฉลียวฉลาดด้านคณิตศาสตร์ของเธอ จึงพยายามหางานให้เธอทำที่มหาวิทยาลัย Helsinki ในฟินแลนด์ซึ่งเขาเป็นศาสตราจารย์อยู่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการหางานให้ Sonya ทำ
ใน ค.ศ. 1878 หลังจากที่ Sonya ได้ให้กำเนิดบุตรสาว ที่มีชื่อเล่นว่า Fufa แล้ว ครอบครัวของเธอเริ่มมีปัญหา เพราะสามีถูกเพื่อนร่วมงานโกงเงิน จนเป็นหนี้ล้นพ้นตัว เขาจึงมีอาการเศร้าซึม ส่วน Sonya ได้ทำงานวิจัยคณิตศาสตร์ต่อ เนื่องจากเธอรู้สึกเสียดายความสามารถที่มี แต่การจะให้งานวิจัยของ Sonya ดำเนินไปได้ ต้องอาศัยความพยายามมาก เธอจึงตัดสินใจไปทำงานวิจัยนอกรัสเซีย โดยการทิ้งสามี และเดินทางไป Berlin กับลูกสาว
เมื่อ Weierstrass พบ Sonya อีกครั้ง เขาได้เสนอโจทย์ใหม่ให้เธอทำวิจัย ในขณะเดียวกัน Mittag – Leffler ก็พยายามหางานถาวรให้เธอทำ
วันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1883 Sonya ได้ข่าวว่าสามีของเธอฆ่าตัวตาย จึงเดินทางกลับรัสเซีย เพื่อจัดการเรื่องมรดกและจัดคนดูแลลูกสาว ในช่วงนั้นมหาวิทยาลัยในหลายประเทศได้เริ่มยินยอมให้สตรีเป็นอาจารย์ได้แล้ว โดยสวีเดนเป็นประเทศแรกที่ให้โอกาส Mittag – Leffler ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำแห่งมหาวิทยาลัย Hogskola ในกรุงสตอกโฮล์ม ได้ประสบความสำเร็จในการหางานให้ Sonya ทำที่มหาวิทยาลัยนี้ แม้เธอไม่เคยสอนระดับมหาวิทยาลัย และพูดภาษาเยอรมันไม่คล่อง แต่เธอก็สามารถปรับตัวได้รวดเร็ว บรรดาศิษย์ต่างก็ชื่นชมเธอมาก มหาวิทยาลัยจึงจ้างเธอเป็นเวลา 5 ปี เพราะสวีเดนเป็นประเทศที่ค่อนข้างล้าหลังด้านคณิตศาสตร์ Sonya จึงต้องติดต่อกับนักคณิตศาสตร์ต่างชาติ เพื่อให้งานวิจัยของเธอเดินหน้าได้ตลอดเวลา
ใน ค.ศ. 1886 พี่สาวของ Sonya ล้มป่วย และถูกเนรเทศออกจากรัสเซีย จึงต้องลี้ภัยไปปารีส และเสียชีวิตหลังการผ่าตัด เหตุการณ์นี้ทำให้ Sonya เสียใจที่ต้องสูญเสียพี่สาวไป และรู้สึกเครียดมาก เพราะสัญญาการทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Hogskola ใกล้หมดอายุ แต่เธอยังโชคดีที่ Paris Academy ได้จัดประกวดงานวิจัยชิงรางวัล Bordin โดยกำหนดโจทย์วิจัยให้ศึกษาการเคลื่อนที่ของวัตถุแข็งเกร็ง
Sonya ได้เสนอทฤษฎีการเคลื่อนที่ของลูกข่างที่ไม่สมมาตร ซึ่งมีปลายข้างหนึ่งตรึง โดยจุดศูนย์กลางมวลของลูกข่างมิได้อยู่บนแกนสมมาตร เทคนิคที่ใช้แก้สมการการเคลื่อนที่ของระบบนี้ทำให้ Sonya มีชื่อเสียงมาก จนโลกเรียกลูกข่างที่เธอใช้ศึกษาว่า ลูกข่าง Kovalevskaya
การที่ Sonya ได้รับรางวัล Bordin นั้น ทำให้มหาวิทยาลัย Hogskola แต่งตั้งให้เธอดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์อย่างถาวรทันที จากนั้นสุขภาพของ Sonya เริ่มทรุด เธอจึงเดินทางไปพักผ่อนที่ปารีส แล้วเดินทางกลับสตอกโฮล์ม จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่ Genoa ในอิตาลีและหลังจากการกลับจากอิตาลี เธอได้ล้มป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1891 สิริอายุ 40 ปี การเสียชีวิตในวัยมิควรเช่นนี้ ทำให้ Weierstrass เสียใจมาก จึงได้เผาจดหมายทุกฉบับที่เธอเขียนถึง
ความสำเร็จของ Sonya Kovalevskaya ได้ช่วยทำให้โลกยอมรับความสามารถของสตรี โดยเฉพาะด้านคณิตศาสตร์ ว่าสตรีมีพิเศษความสามารถทางคณิตศาสตร์พอๆ กับบุรุษ
credit:http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000093410
ป้ายกำกับ:
ประวัติ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น