วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นักวิทย์เตือน เอเลี่ยนหวั่นภัยความเจริญ อาจล้างบาง 'มนุษย์' เพื่อปกป้องอารยธรรมอื่น

มนุษย์ต่างดาวอาจสังเกตเห็นความเสียหายที่มนุษย์ทำไว้กับโลก จึงมองว่าจำเป็นที่ต้องกำจัดพวกเราทิ้ง เพื่อปกป้องดาวดวงนี้ไว้
เดอะการ์เดียน - นักวิทยาศาสตร์เตือน ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นการส่งสัญญาณให้มนุษย์ต่างดาวรู้สึกว่ามนุษย์โลกเป็นภัยคุกคามที่กำลังแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว จึงควรต้องรีบลดปริมาณปล่อยก๊าซดังกล่าวลง เพื่อป้องกันไม่ให้เหล่าเอเลี่ยนบุกโจมตีโลก
       
       นักวิทยาศาสตร์แห่งองค์การนาซา และมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนียอธิบายว่า สิ่งมีชีวิตจากดาวอันไกลพ้นสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศของโลก อันเป็นสัญญาณว่าความเจริญโตขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ และพวกเขาจะต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพื่อไม่ให้พวกเราชาวโลกกลายเป็นภัยที่ร้ายแรงขึ้น
       
       ชอว์น โดมากัล-โกลด์แมน จากหน่วยวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของนาซา และเพื่อนร่วมทีม ได้รวบรวมสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะตามมาหลังมีการพบปะกันอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยมนุษยชาติเตรียมพร้อมสำหรับการติดต่อสัมพันธ์ที่แท้จริง
       
       ในรายงานที่ชื่อ Would Contact with Extraterrestrials Benefit or Harm Humanity? A Scenario Analysis ทีมนักวิจัยได้แบ่งการติดต่อจากมนุษย์ต่างดาวออกเป็น 3 รูปแบบ คือ มาอย่างเป็นคุณ กลางๆ และให้โทษ
       
       สำหรับการมาอย่างเป็นคุณนั้น ชาวโลกอาจจะได้รับประโยชน์ตั้งแต่การให้ข้อมูลข่าวกรองนอกโลก การตั้งองค์กรเพื่อช่วยเราพัฒนาความรู้ ความสามารถ และช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ความหิวโหย ความอดอยาก และโรคร้าย ตลอดจนการช่วยโลกต่อสู้กับผู้บุกรุกจากดาวเคราะห์อื่นๆ ด้วย
       
       ขณะที่ การติดต่อโดยเอเลี่ยนบางครั้งอาจไม่ทำให้สังคมโลกรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง พวกเขาอาจแตกต่างกับมนุษย์โลกจนไม่สามารถจะสื่อสารกันอย่างเป็นประโยชน์ได้ แต่พวกเขาอาจชักชวนให้ชาวโลกเข้าร่วมสมาคมต่างดาว "แกแลคติก คลับ" เพียงเพื่อจะขอเดินทางมายังโลก และอาจกลายเป็นสิ่งที่ก่อความวุ่นวายให้กับโลกได้
       
       อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตจากนอกโลกก็อาจมาอย่างให้โทษต่อมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นภัยโดยไม่ตั้งใจ อย่างการแพร่โรคระบาด หรือแม้แต่การกินมนุษย์ เอามนุษย์ไปเป็นทาส และโจมตีทำลายล้างเราได้เช่นกัน
       
       ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของมนุษย์ นักวิจัยเหล่านี้จึงเรียกร้องให้ระวังการส่งสัญญาณขึ้นไปในอวกาศ โดยเฉพาะเตือนไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางชีววิทยา ซึ่งอาจถูกใช้เป็นอาวุธล้างบางพวกเราชาวโลก ขณะที่การติดต่อกับเหล่าอีทีก็ควรเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าจะรู้จักมนุษย์ต่างดาวที่เกี่ยวข้องด้วยนั้นดีขึ้น
       
       นอกจากนี้ คณะผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าวยังเสริมว่า เอเลี่ยนทั้งหลายอาจวิตกกังวลกับอารยธรรมที่แผ่ขยายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความเจริญเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่นเดียวกับที่มนุษย์ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดสูญพันธุ์จากโลกนี้ไปแล้ว
       
       ทีมนักวิจัยระบุว่า ขณะนี้ ความเจริญของมนุษยชาติอาจเข้าสู่ช่วงที่ขยายตัวอย่างมากจนองค์กรข่าวกรองนอกโลกตรวจจับได้ เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศของโลก ผ่านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง
       
       "กรีนเอเลี่ยนอาจคัดค้านการทำลายสิ่งแวดล้อมบนโลกที่มนุษย์เป็นตัวการ และกวาดล้างพวกเราเพื่อรักษาดาวดวงนี้ไว้ สิ่งสมมติเหล่านั้เป็เหตุผลให้เราต้องจำกัดการเติบโต และลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของโลก นี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเราในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากองค์ประกอบในชั้นบรรยากาศอาจถูกสังเกตเห็นได้จากดาวดวงอื่น" รายงานดังกล่าวสำทับ



credit:http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9540000104253

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รู้ไหมว่า...ไดนาไมต์ทำจากถั่ว

อัลเฟรด โนเบล ผู้ประดิษฐ์ไดนาไมต์


 หลายคนทราบดีกว่า อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) เป็นผู้ก่อตั้งรางวัลอันทรงเกียรตินี้ขึ้นมา เขาซึ่งเป็นทั้งนักเคมี วิศวกร นวัตกร นักอุตสาหกร รวมถึงผลงานที่ทำให้รู้จักกันก้องโลกนั่นก็คือการประดิษฐ์“ระเบิดไดนาไมต์”


       
       โนเบลค้นพบวิธีการสร้างไดนาไมต์ในปี 1866 และจดสิทธิบัตรในปีต่อมา โดยต้องการสร้างให้ระเบิดดังกล่าวใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แต่แล้วสิ่งประดิษฐ์อันยอดเยี่ยมของเขาก็กลับกลายเป็นอาวุธทำลายมนุษย์กันเอง
       เจ้าของนวัตกรรมชิ้นนี้ถึงกับปวดใจ จึงตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อจะให้แก่ผู้ที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชาวโลก พร้อมๆ กันนั้นเขาก็ตั้งหน้าตั้งตาสร้างสิทธิบัตรอีกจำนวน 355 ชิ้น เพื่อจะได้นำรายได้จากการใช้สิทธิบัตรเหล่านี้ เพิ่มมูลค่าให้แก่กองทุนในอนาคต
จนกระทั่งโนเบลสิ้นใจลง ในปี 1896 ก็ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติทั้งหมด ให้แก่กองทุนมูลนิธิรางวัลโนเบล โดยกำหนดให้มีการมอบรางวัลในสาขาต่างๆ ทุกปี โดยเฉพาะสาขาสันติภาพ

       กลับมาที่ถั่ว ... เกี่ยวอะไรกับไดนาไมต์? 
       
       ส่วนประกอบสำคัญของ “ไดนาไมต์” นั้น คือ ไนโตรกรีเซอรีน (Nitroglycerine)
       
       ไนโตรกรีเซอรีนนี้ เป็นสารประกอบเคมี ในภาวะปกติจะเป็นของเหลว ระเบิดได้และไม่มีสี ซึ่งโนเบลได้นำไนโตรกรีเซอรีนผสมเข้ากับผงดินปืนจนกลายมาเป็นไดนาไมต์

ไนโตรกรีเซอรีนนั้น เป็นส่วนผสมของ “ไนโตรเจน” กับ “กรีเซอรีน” ซึ่งกรีเซอรีนถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย และเราคุ้นเคยกันดี คือเป็นส่วนผสมของสบู่ และด้วยความหวานของกรีเซอรีนทำให้ถูกนำไปผสมในครีม และอาหารอีกหลายชนิด
       แล้วถั่วมาเกี่ยวกันตอนไหน?
       
       ก็เพราะกลีเซอรีนนั้น ทำมาจาก “น้ำมันถั่วลิสง”
       
       ถั่วจึงกลายเป็นต้นกำเนิดไดนาไมต์ และอาจจะพูดได้อีกว่า ถั่วนี่ล่ะที่เป็นต้นกำเนิดแห่งรางวัลโนเบล !!




credit:http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000119179 

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รู้ไหมว่า? “อนุภาคมูลฐาน” มีกี่ชนิด

แผนภาพอนุภาคมูลฐานทั้ง 16 ชนิด (ไซน์เดลี/Fermilab)


อนุภาคมูลฐาน (Fundamental Particle) เป็นหน่วยเล็กที่สุดของอะตอมที่เชื่อว่าแบ่งต่อไปอีกไม่ได้ มีทั้งหมด 16 ชนิด แบ่งออกเป็น เฟอร์มิออน (fermion) หรืออนุภาคสสาร และ โบซอน(Boson) หรืออนุภาคนำพาแรง (force carrier)
       
       เฟอร์มิออนนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท (class) ได้แก่ ควาร์ก (Quark) และ เลปตอน (Lepton)ซึ่งแต่ละประเภทแบ่งได้ 6 ชนิด
       - ควาร์ก แบ่งเป็น อัพควาร์ก (up quark) ดาวน์ควาร์ก (down quark) ชาร์มควาร์ก (charm quark) สแตรนจ์ควาร์ก (strange quark) ท็อปควาร์ก (top quark) และ บัตทอมควาร์ก (buttom quark)
       - เลปตอน แบ่งเป็น อิเล็กตรอนนิวทริโน (electron neutrino) อิเล็กตรอน (electron) มิวออนนิวทริโน (muon neutrino) มิวออน (muon) ทาวนิวทริโน (tau neutrino) และทาว (tau)
       
       ส่วนโบซอนนั้นแบ่งออกได้ 4 ชนิด คือ โฟตอน (photon) กลูออน (gluon) แซดโบซอน (Z boson) และ ดับเบิลยูโบซอน (W boson)
       
       *อ้างอิงข้อมูลจาก ห้องปฏิบัติการเครื่องเร่งอนุภาคสหรัฐฯ สแลค (SLAC National Accelerator Laboratory) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) 


credit:http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000069163

“ผ้าคลุมล่องหน” กำลังเป็นรูปเป็นร่าง

ภาพแแสดงการสะท้อนเสียงบนวัตถุต่างๆ (บน) เสียงสะท้อนบนพื้นผิวเรียบ (กลาง) เสียงสะท้อนเมื่อมีวัตถุ (ล่าง) เสียงสะท้อนเมื่อมีวััสดุล่องหนคลุมวัตถุไว้


จากทฤษฎีที่เสนอเมื่อปี 2008 ตอนนี้แนวคิดในการพัฒนา “ผ้าคลุมล่องหน” กำลังเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้นำเสนออุปกรณ์ที่ทำให้มองไม่เห็นวัตถุ โดยเปลี่ยนไปใช้คลื่นเสียงแทน ซึ่งงานนี้หยิบยืมหลายๆ แนวคิดที่พยายามซ่อนวัตถุจากแสง 
       
       นับแต่มีแนวคิดเสนอขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2006 ว่า เราทำ “ผ้าคลุมล่องหน” อย่างในภาพยนตร์เรื่อง “แฮร์รี พอตเตอร์” (Harry Potter) ได้ ก็มีงานวิจัยจำนวนมากที่ส่งสัญญาณว่าเราทำแนวคิดดังกล่าวให้เป็นจริงได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานเกี่ยวกับการออกแบบอภิวัตถุ (meta material) ที่บังคับให้แสงเดินทางไปรอบๆ วัตถุก่อนเดินทางไปถึงผู้สังเกต แล้วทำให้เห็นราวกับว่าวัตถุไม่ีอยู่ตรงนั้น
       
       อย่างไรก็ดี บีบีซีนิวส์รายงานว่า นักวิจัยพบคณิตศาสตร์เบื้องหลังหลักการสร้างวัสดุล่องหนที่สามารถเปลี่ยนจากการใช้แสงไปใช้เสียงได้ โดย ดร.สตีเฟน คัมเมอร์ (Dr.Steven Cummer) จากมหาวิทยาลัยดุค (Duke University) สหรัฐฯ อธิบายว่า เรารับรู้สิ่งต่างๆ ที่อยูในรูปของคลื่น ไม่ว่าจะเป็นการได้ยินหรือการมองเห็น แต่คลื่นเสียงและคลื่นแสงนั้นมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งเขาแนะนำว่าสิ่งสำคัญในการพัฒนาวัสดุล่องหน คือการสร้างพฤติกรรมสำหรับทิศทางการเดินของแสงผ่านวัตถุให้หลากหลาย
       
       ทั้งนี้ เมื่อปี 2008 ดร.คัมเมอร์ ได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับวัสดุล่องหนที่อาศัยการแปลงเสียงนี้ แล้วตีพิมพ์ลงวารสารฟิสิคัลรีวิว (Physical Review Letters) และเมื่อต้นปี 2011 กลุ่มวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์บานา-แคมเปญจน์ (University of Illinois Urbana-Champaign) สหรัฐฯ เป็นกลุ่มแรกที่สาธิตทฤษฎีดังกล่าวในทางปฏิบัติได้ และตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการฉบับเดียวกัน โดยผลงานพวกเขาได้แสดงการล่องหนบนชั้นผิวน้ำให้เป็นความถี่เสียงย่านอัลตราซาวน์ ซึ่งอยู่เหนือความถี่เสียงที่เราได้ยิน
       
       มาถึงตอนนี้ ดร.คัมเมอร์และคณะได้แสดงเทคนิคการล่องหนที่ทำงานได้ในอากาศ โดยแปลงภาพให้เป็นความถี่เสียงระหว่าง 1-4 กิโลเฮิรตซ์ พวกเขาทำได้โดยใช้แผ่นพลาสติกที่เรียงกันเป็นชั้นๆ และมีรูเรียงกัน ซึ่งขนาดและตำแหน่งจัดวางของรูในแผ่นพลาสติก รวมทั้งระยะห่างระหว่างแผ่นพลาสติกนั้น มีผลต่อการกำหนดรูปแบบคลื่นเสียงที่จะออกมา ซึ่งเมื่อนำไปวางบนพื้นเรียบๆ แผ่นพลาสติกที่เรียงเป็นชั้นดังกล่าว จะเปลี่ยนทิศทางของคลื่นเสียงให้สะท้อนออกมา ราวกับว่าไม่มีแผ่นชั้นพลาสติกนั้นอยู่
       
       นั่นหมายความว่า ในการทดลองของพวกเขานั้นวัตถุที่อยู่ใต้ชั้นแผ่นพลาสติกจะไม่สามารถ “รับรู้” ถึงเสียงได้ และไม่สามารถใช้คลื่นเสียงค้นหาตำแหน่งวัตถุใต้แผ่นพลาสติกเช่นกัน ทั้งนี้ พวกเขาใช้ก้อนไม้ที่ยาว 10 เซ็นติเมตรเป็นวัสดุทดลองวางไว้ใต้ชั้นแผ่นพลาสติก ซึ่ง ดร.คัมเมอร์กล่าวว่าวัสดุคลุมล่องหนของพวกเขานั้นสะท้อนเสียงได้ราวกับเป็นพื้นผิวเรียบๆ
       
       ด้าน ออร์ทวิน เฮสส์ (Ortwin Hess) ผู้อำนวยการศูนย์พลาสโมนิกส์และอภิวัสดุ (Centre for Plasmonics and Metamaterials) มหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) อังกฤษ กล่าวถึงงานวิจัยดังกล่าวว่าเป็น “การสาธิตการทดลองที่น่าจดจำอย่างยิ่ง” ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า แม้คลื่นเสียงและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (แสง) จะมีธรรมชาติที่ต่างกันมาก แต่การแปลงรูปในทางคณิตศาสตร์ของแสงและเสียงนั้นเหมือนกัน
       
       อย่างไรก็ดีการทดลองนี้ยังทำได้ในทาง 2 มิติเท่านั้น และจะมีความท้าทายยิ่งกว่าในการล่องหนวัตถุ 3 มิติ ทั้งนี้ งานวิจัยของ ดร.คัมเมอร์แสดงให้เห็นว่าวัตถุสามารถซ่อนตัวจากเสียงได้และยังกันเสียงที่มากระทบได้อีก ซึ่งหลักการเดียวกันนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นได้ด้วย เช่น การเก็บเสียงรบกวน หรือ การปรับแต่งเสียงในห้องแสดงคอนเสิร์ต เป็นต้น


วัสดุล่องที่ชั้นพลาสติกเจาะรูเรียงเป็นชั้นๆ (ภาพทั้งหมดจากบีบีซีนิวส์)

แปลก! พบสัตว์เลื้อยคลานยุคไดโนเสาร์ไม่วางไข่แต่ออกลูกเป็นตัว


ฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานในทะเลท้องแก่ไม่เพียงให้ข้อมูลใหม่แก่นักวิทยาศาสตร์ว่า “พลีซิโอซอร์” เป็นสัตว์เลื้อยคลานในยุคไดโนเสาร์คลอดลูกเป็นตัวเท่านั้น แต่ลักษณะตัวอ่อนที่พบยังบ่งชี้ว่าสัตว์เลื้อยคลานในน้ำสายพันธุ์นี้ยังมีวิธีเลี้ยงดูลูกอย่างทะนุถนอมแบบเดียวกับวาฬและโลมาด้วย 
       
       นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่าสัตว์เลื้อยคลานในทะเลที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่าง อิชธิโอซอร์ (ichthyosaur) โมซาซอร์ (mosasaur) และชอริสโตเดอรัน (choristoderan) ออกลูกเป็นตัว แต่เป็นครั้งแรกที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า พลีซิโอซอร์ (plesiosaur) สัตว์เลื้อยคลานทะเลในยุคไดโนเสาร์สายพันธุ์ พอลิคอไทลัส ลาทิพพินัส (Polycotylus latippinus) ออกลูกเป็นตัวเช่นกัน
       
       เนเจอร์นิวส์รายงานว่า ฟอสซิลของพลีซิโอซอร์วางนิ่งอยู่ในชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์โดยไม่ได้รับการตรวจสอบมากเกือบ 25 ปี แต่เมื่อตรวจสอบพบว่า ฟอสซิลของสัตว์ยุคไดโนสาร์ชนิดนี้มีตัวอ่อนขนาดใหญ่ที่มีความยาว 150 เซนติเมตรอยู่ในร่างของแม่ที่มีความยาว 470 เซนติเมตร โดยตัวอ่อนมีกระดูกสันหลัง 20 ข้อ มีไหล่ สะโพกและกระดูกครีบให้เห็น ซึ่งเชื่อว่าตัวอ่อนเจริญเติบโตมาได้ 2 ใน 3 ของระยะก่อนออกมาดูโลกภายนอกแล้ว และการค้นพบครั้งนี้ยังได้เผยแพร่ลงวารสารวิชาการไซน์ (Science)
       
       “เรารู้จักพลีซิโอซอร์มาเกือบ 200 ปี แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่เคยพบฟอสซิลของพลีซิโอซอร์ท้องมาก่อน” ความเห็นจาก โรบิน โอ'คีฟ (Robin O'Keefe) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยมาร์แชล (Marshall University) ในฮันทิงตัน รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐฯ ผู้ร่วมวิเคราะห์ฟอสซิลอายุ 78 ล้านปีกับ หลุยส์ ไชอาปเป (Luis Chiappe) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural History Museum) ในเคาน์ตีลอสแองเจลิส ลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย
       
       การออกลูกเป็นตัวและมีตัวอ่อนขนาดใหญ่นี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า พลีซิโอซอร์ต้องมีพฤติกรรมเลี้ยงดูลูกอย่างทนุถนอม โดย โอ'คีฟได้อธิบายให้เห็นภาพว่า แม่ของสัตว์ในยุคปัจจุบันอย่างช้าง วาฬ โลมา และรวมถึงมนุษย์ด้วยนั้นมีทายาทตัวโตเพียงไม่กี่ตัว และเมื่อเราโยนความเสี่ยงทั้งหมดลงในตะกร้าใบเดียวด้วยการมีลูกแค่หนึ่งเดียว จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากหากเราจะทุ่มเทความรักทั้งหมดให้ลูกน้อย
       
       โอ'คีฟชี้เฉพาะลงไปอีกว่า พลีซิโอซอร์อาจมีพฤติกรรมเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลยุคปัจจุบัน ที่อาศัยอยู่รวมกลุ่มและมีชีวิตสังคมเพื่อปกป้องตัวอ่อน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลานในทะเลอื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ทั้งนี้ ฟังดูไม่สมเหตุสมผลนักว่า ลูกสัตว์เลื้อยคลานพันธุ์นี้พร้อมที่จะดูแลตัวเองทันทีหลังเกิดมาแล้ว เพราะกระดูกของตัวอ่อนบ่งชี้ว่า ลูกพลิซิโอซอร์นั้นไม่มีลักษณะทางกายภาพที่พึ่งพาตัวเองหลังเกิด
       
       อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีสัตว์เลื้อยคลาน 2-3 ชนิด อย่างเช่นจิ้งเหลนบางสายพันธุ์ก็ออกลูกที่มีขนาดตัวใหญ่ออกมาไม่กี่ตัว และยังแสดงพฤติรรมทางสังคมคล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกด้วย
       
       ในส่วนของ ไมเคิล เอเวอร์ฮาร์ท (Michael Everhart) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลก่อนยุคประวัติศาสตร์ จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสเติร์นเบิร์ก (Sternberg Museum of Natural History) ในเฮย์ส คันซัส สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ตัวอย่างฟอสซิลพลีซิโอซอร์นั้นเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น และได้ช่วยตอบคำถามที่ค้างคามาหลายปี แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสัตว์เลื้อยคลานพันธุ์นี้มีพฤติกรรมทางสังคมและการสืบสายพันธุ์ที่แตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลายทะเลชนิดอื่นๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยเขาอยากเห็นตัวอย่างมากกว่านี้อีกสัก 10 กว่าตัวอย่าง
       
       สำหรับตัวอย่างฟอสซิลพลิซิโอซอร์ตัวอย่างนี้ถูกค้นพบในคันซัสเมื่อปี ค.ศ.1987 โดยนักล่าฟอสซิลอิสระ และได้ถูกบริจาคให้แก่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในเคาน์ตีลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นสถานที่ตัวอย่างฟอสซิลถูกวางกองไว้ และเมื่อปีที่ผ่านมามีการตัดสินใจว่า ถึงเวลาที่ฟอสซิลนี้จะถูกนำไปจัดแสดงเสียที จากนั้นก็มีการส่งมอบเงินทุนเพื่อการเตรียมตัวอย่างและจัดแสดง และตอนนี้ฟอสซิลพลิซิโอซอร์ก็ถูกย้ายไปแสดงในโถงแสดงไดโนเสาร์ใหม่ของพิพิธภัณฑ์


ภาพวาดจำลองการเลี้ยงดูลูกของพลิซิโอซอร์ (เนเจอร์)