วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ใหม่!!! Wi-Fi ไร้สายไกลถึง 100 กม.!!

คุณผู้อ่านอาจจะคุ้นเคยกับมาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สาย Wi-Fi 802.11 a/b/g/n ซึ่งเป็นที่นิยมใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน โดยต้องยอมรับว่า 802.11 ใช้งานได้ดี และไม่ต้องคอยกังวลว่าจะมีมาตรฐานใหม่ออกมาแล้วทำให้เราท์เตอร์ของคุณใช้ไม่ได้ แต่แล้ว IEEE ก็ได้ประกาศมาตรฐานใหม่สำหับการเชื่อมต่อไร้สายที่เรียกว่า 802.22 ที่ออกแบบให้สามารถใช้ประโยชน์จากสเป็กตรัมสัญญาณของการบรอดแคสต์ใหม่ที่อยู่ระหว่าง 54MHz ไปจนถึง 698MHz (ความถี่ที่ใช้กับแพร่สัญญาณภาพแอนาล็อกทีวีในสหรัฐอยู่ที่ 700MHz)

ด้วยเหตุที่ใช้ความถี่ในย่านใกล้เคียงกับทีวีแอนาล็อก ทำให้มาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สายแบบใหม่สามารถส่งคลื่นออกไปได้ไกลกว่าเดิมหลายเท่าตัว โดย 802.22 Wi-Fi จะสามารถเชื่อมต่อด้วยความเร็วของข้อมูลสูงถึง 22 Mbps ในระยะ 62 ไมล์ (ประมาณ 100 กิโลเมตร) ด้วยเบสสเตชันตัวเดียว ซึ่งทำให้ง่ายต่อการให้บริการบรอดแบนด์ไร้สายในเมืองเล็กๆ โดยล่าสุดมาตรฐานดังกล่าวได้ผ่านการรับรองแล้ว นั่นหมายความว่า บริษัทต่างๆ ก็สามารถเริ่มผลิตเราท์เตอร์ที่ใช้เทคโนโลยี 802.22 นี้ได้แล้ว

สื่อเวียดนามเกาะติด อภิมหาเรือจีน ใหญ่บักเอ้กคับช่องแคบมะละกา


อภิมหาแห่งฐานทัพลอยน้ำ-- หากสร้างได้จริงเรือลำนี้จะทำให้น่านน้ำทะเลจีนใต้แคบลงไปถนัด และอาจจะกลายเป็นวัตถุลอยน้ำใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมา เรือบรรทุกเครื่องบินในอุดมคติของจีนลำนี้อาจจะมีปัญหามากหากเข้าช่องแคบมะละกา นอกจากนั้นมันยังจะเป็นเป้าอันโดดเด่นของขีปนาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย ทั้งหมดเป็นเสียงวิจารณ์ของผู้อ่านสื่อออนไลน์ในเวียดนามและเว็บไซต์ข่าวกลาโหมอีกหลายแห่ง.


ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- สื่อในเวียดนามเกาะติดแบบตาไม่กะพริบข่าวล่าสุด เรือบรรทุกเครื่องบินในฝันของจีน ซึ่งว่ากันว่าหากสร้างได้จริงก็จะเป็นสิ่งลอยน้ำใหญ่ที่สุด เท่าที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในโลกนี้ และหลายคนกล่าวว่าหากนำเข้าประจำการก็จะกลายเป็นเป้าหมายที่โดดเด่นของขีปนาวุธนิวเคลียร์ 

ภาพเรือบรรทุกเครื่องบินจีนที่ยังเป็น “คอนเซ็ปต์” นี้ เผยแพร่ในเว็บไซต์หลายแห่งของจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สื่อออนไลน์ในเวียดนามนำออกเผยแพร่ต่อพร้อมกับเปิดให้ผู้อ่านวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

คาดว่า เรือบรรทุกเครื่องบินในมโนภาพที่ประกอบด้วย 2 กระดูกงู และมีทางวิ่งขึ้นลงของเครื่องบินถึง 2 รันเวย์นี้ อาจจะมีระวางขับน้ำถึง 300,000 ตัน หรือ เท่าๆ กับเรือน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีใช้อยู่ในโลกปัจจุบันถึง 3 ลำ

ภาพเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดมหึมา ที่ประกอบด้วย 2 กระดูกงูนี้ แพร่ออกมาหลังจากมีการเปิดเผยว่า จีนมีแผนจะสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินของตนเองจำนวน 2 ลำ และในปัจจุบันอาจจะเริ่มก่อสร้างลำแรกแล้ว

ส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินที่ซื้อจากสาธารณรัฐยูเครนและกำลังฟื้นฟูและก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในขณะนี้ จะใช้เพื่อการศึกษาวิจัยและการฝึกซ้อมเท่านั้น

ภาพวาดเรือบรรทุกเครื่องบินในอุดมคติของจีน ซึ่งว่ากันว่า อาจจะกลายเป็นจริงได้ใน 15-20 ปี ยังแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ในเว็บไซต์การทหารและการกลาโหมหลายแห่ง และ กำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

“ถ้าหากสร้างขึ้นมาจริงก็จะมีปัญหามากเมื่อจะเข้าช่องแคบมะละกาไปมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนั้นอินเดียคงจะไม่ยอมให้ฐานทัพใหญ่มหึมาขนาดนี้เข้าใกล้น่านน้ำของตน ญี่ปุ่นกับเกาหลีก็คงไม่ต่างกัน เพราะไม่อบขี้หน้าจีนอยู่แล้ว” ผู้อ่านคนหนึ่งแสดงความเห็น

ผู้อ่านอีกจำนวนหนึ่งดูภาพเรือบรรทุกเครื่องบินยักษ์ด้วยความขบขัน โดยไม่เชื่อว่า จะมีความน่าเกรงขามอะไร เนื่องจากขนาดใหญ่โตของมันตกเป็นเป้าถูกโจมตีได้โดยง่าย นอกจากนั้นยังจะต้องใช้กองกำลังและระบบป้องกันที่มีขนาดใหญ่โตทันสมัยมาก รวมทั้งต้องใช้บุคลากรที่ฝึกอย่างดี

นอกจากนั้น จะต้องใช้เตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ใหญ่โตมากในการให้พลังงานเพื่อการขับเคลื่อน และ “ทันที่ที่สตาร์ทเครื่องโซนาร์ในแถบเอเชียไปจนถึงซานติเอโก (แคลิฟอร์เนีย) ก็จะจับเสียงของมันได้หมด” ผู้อ่านคนหนึ่งกล่าว

ผู้อ่านอีกคนหนึ่ง บอกว่า ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ที่ออกแบบให้อยู่ใต้ชั้นดาดฟ้าลงไปในส่วนท้ายของลำเรือ ทำให้เสี่ยงต่อการที่จะถูกลมหอบไปปะทะกับลำเรือทำให้เกิดอุบัติเหตุ วิธีป้องกันจะต้องขยายลานจอดให้กว้างเป็นการสิ้นเปลืองพื้นที่

อีกคนหนึ่งกล่าวว่า การใช้สองกระดูกงูจะทำให้ลำบากในการเคลื่อนย้ายเครื่องบินลงเก็บในโรงจอดข้างล่าง เพราะในสภาพที่ใช้งานจริงจะมีหลายโอกาสที่จะต้องจะต้องนำเครื่องข้ามรันเวย์ไป และ ยังยากต่อการเคลื่อนไหวนำเครื่องขึ้นสู่ลานบินข้างบน

ผู้อ่านอีกคนหนึ่งวิจารณ์อย่างอารมณ์ดีว่า ช่องว่างระหว่างกระดูกงูอาจจะลากเรือดำน้ำพ่วงเข้าไปได้ถึง 4 ลำ กับ เรือเล็กอื่นๆ อีกกว่า 10 ลำ จึงจะคุ้มกับการใช้งาน




อินเทล นำเสนอ “Ivy Bridge” ชิปประมวลผลเทคโนโลยี 22 นาโน แบบ 3มิติ

อินเทลนำเสนอแพลตฟอร์ม ไอวีบริดจ์ (Ivy Bridge) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไมโครโพรเซสเซอร์ ที่มีโครงสร้างทรานซิสเตอร์แบบ 3มิติ หรือ “Tri-Gate” (ดูวิดีโอประกอบจะเห็นโครงสร้างนี้) ขึ้นมาใช้งาน และเป็นการพัฒนาต่อจากแซนดีบริดจ์ (Sandy Bridge) ที่ใช้เทคโนโลยี 32 นาโนเมตร โดยปรับให้เล็กลงระดับ 22 นาโนเมตร เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและลดพลังงานลงจากเดิม และรองรับการทำงานที่เร็วขึ้นโดยเฉพาะบริการ Cloud-based ที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคตข้างหน้าสำหรับมือถือ ดูวิดีโอประกอบครับ

credit:http://www.imaicafe.com/2011/05/05/intel-ivy-bridge-platform-to-utilize-3d-transistors/

ไขความลับ แหวนเหล็กบิดเบี้ยว ของ โทมัส เอดิสัน






เมื่อปี 1967 มีการค้นพบ แหวนดีบุกบิดๆเบี้ยวๆ อยู่วงหนึ่งในก้นลิ้นชัก ภายในห้องแล็ปของ โทมัส เอดิสัน ไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร มีไว้ทำอะไร แต่ด้วยมันเป็นสมบัติของ เอดิสัน มันจึงถูกเก็บรักษาไ้ว้ และความลับนับร้อยปี ก็คลี่คลายในที่สุด

หลังจากที่มันถูกสร้างมา 123 ปี แหวนบิดๆเบี้ยวๆ กับ ความลับของก็ถูกไขออกได้ เมื่อใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพคุณภาพสูง ก็พบว่ามันมีร่องขนาดเล็กที่เหมือนได้จากเครื่องบันทึกเสียงแบบ โฟโนกราฟ(Phonograph เครื่องบันทึกเสียงแบบใช้คลื่นเสียงไปขยับเข็มให้กีดลงเนื้อท่อจนเกิดเป็นร่อง โดยร่องก็คือข้อมูลเสียงที่ถูกบันทึกไว้นั้นเอง)

วงแหวนดังกล่าว มีเนื้อวัสดุเป็นดีบุก(โลหะเนื้ออ่อนสามารถ กีดให้เกิดร่องได้ง่าย) เส้นรอบวง 2.5 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแถบบันทึกเสียง
แหวนบิดเบี้ยวนี้บันทึกถ้อยคำว่า "Twinkle Twinkle Little Star" ซึ่งเป็นเนื้อเพลง มีความยาว 12 วินาที เพื่อไว้ใช้ในการสร้าง ตุ๊กตาพูดได้ ตัวแรกของโลก และถือเป็นก้าวย่างแรกของวงการบันทึกเสียงใน สหรัฐครั้งแรก

แต่เทคโนโลยี่นั้น ก้าวเดินอย่างรวดเร็ว และงานนี้ เอดิสัน นั้นก้าวช้าไปก้าวหนึ่ง จึงมีเทคโนโลยี่บันทึกเสียงบนขี้ผึ้ง(Wax recording) ในปี 1890 มาทดแทน วงแหวนเหล็กบันทึกเสียงนี้จึงไม่เคยถูกนำมาผลิตเป็นตุ๊กตาพูดได้ ออกวางจำหน่าย

เนื่องจากแหวนวงนี้บิดเบี้ยวเกินกว่าจะนำไปเล่นบนเครือง โฟโลแกรม ได้อีก แต่ด้วยเทคโนโลยี่สมัยใหม่ นักวิทยาศาสาตร์จาก the Lawrence Berkeley National Laboratory ใน Berkeley รัฐแคลิฟอร์เนียได้ใช้การวิเคราะห์จากภาพขยาย เพื่อแกะสิ่งที่ถูกบันทึกไว้บนวงแหวน แล้วจัดทำเป็นรูปแบบเสียง ดิจิตอลไฟล์ ขึ้นมาใหม่

เมื่อมองด้านข้างจะเห็นว่ามีร่องเล็กอยู่โดยรอบ

เมื่อทำการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะเห็นร่องอย่างชัดเจนที่เกิดจากเครื่องบันทึกเสียงแบบ โฟโลแกรม







วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ถอดมุมมองผู้พบ “พัลซาร์” จริงหรือโลกดับ 2012 ?

ความเชื่อเรื่องโลกพบจุดจบในปี 2012 แพร่ระบาดในอินเทอร์เน็ต


จริงหรือโลกดับในปี 2012? จากมุมมอง “โจเซลิน เบล เบอร์เนล” นักดาราศาสตร์หญิงจากอังกฤษผู้พบ “พัลซาร์” ยกปรากฏการณ์บนท้องฟ้ามาวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ตั้งแต่ดวงอาทิตย์กลับขั้วแม่เหล็ก พายุสุริยะ สนามแม่เหล็กโลกกลับทิศทาง การเรียงตัวของดาวเคราะห์ ความเชื่อเรื่องดาวนิบิรุและดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก รวมถึงโลกถูกดูดเข้าสู่หลุ่มดำใจกลางกาแลกซี

     
       ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงโจเซลิน เบล เบอร์เนล (Dame Jocelyn Bell Burnell) คือ นักดาราศาสตร์วิทยุจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) สหราชอาณาจักร ผู้พบสัญญาณ “พัลซาร์” (Pulsar) หรือ “ดาวนิวตรอน” ที่แผ่คลื่นวิทยุออกมาเป็นห้วงตามอัตราการที่ดาวหมุนรอบตัวเอง คล้ายๆ กับการส่องแสงของประภาคารเมื่อปี ค.ศ.1967 ขณะทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge)
     
       ศาสตราจารย์เบอร์เนลได้ใช้เสารับสัญญาณวิทยุศึกษาปรากฏการณ์ดาราศาสตร์และได้พบสัญญาณพัลซาร์ ซึ่งเบื้องต้นเธอเข้าใจว่าเครื่องมือขัดข้อง แต่เมื่อพบสัญญาณเดียวกันจากอีกแหล่งกำเนิดทำให้เธอแน่ใจว่าเครื่องมือไม่ได้มีปัญหา และการค้นพบครั้งนั้นยังทำให้ ศ.แอนโทนี ฮิวอิช (Prof.Antony Hewish) อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอในขณะนั้น และ ศ.มาร์ติน ไรล์ (Prof.Martin Ryle) ได้รับรางวัลโนเบล
     
       ปัจจุบัน ศ.เบอร์เนลล์ไม่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับพัลซาร์แล้ว แต่ยังคงติดตามการศึกษาเรื่องนี้อยู่ และนอกจากเป็นนักดาราศาสตร์แล้ว เธอยังเดินสายบรรยายพิเศษเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านดาราศาสตร์ไปทั่วโลกปีละ 30-40 ครั้ง หากแต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเธอได้รับคำถามถี่ๆ ว่า “จริงหรือไม่? โลกจะถึงกาลอวสานในปี 2012” จึงเป็นแรงผลักให้เธอตัดสินใจเผยแพร่ข้อมูลที่จะช่วยระงับความตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์วันสิ้นโลก ซึ่งมีแรงกระตุ้นมาจากภาพยนต์ดัง
     
       ล่าสุดเธอได้เดินทางมาบรรยายในมุมมองดาราศาสตร์ต่อกระแสตื่นกลัววันสิ้นโลกในปี 2012 ภายในการประชุมวิชาการสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 11 (APRIM2011) ซึ่งจักขึ้นเมื่อปลายเดือน ก.ค.54 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมฟังการบรรยายดังกล่าวด้วย
     
       กระแสวันสิ้นโลกในปีหน้านั้นเริ่มจากการนำเสนอว่าปฏิทินรอบยาว (Long Count) ของชาวมายาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 21 ธ.ค.2012 ซึ่งมีหลายปรากฏการณ์ที่ถูกดึงมาสนับสนุนวาระสุดท้ายของโลก ทั้งปรากฏการณ์แผ่นดินไหว พายุ ภูเขาไฟระเบิด แต่ในฐานะนักดาราศาสตร์ ศ.เบอร์เนลล์ ได้ยกประเด็นด้านดาราศาสตร์ที่หลายคนเชื่อว่าจะเป็นสาเหตุของหายนะทำลายล้างโลก
     
       ดวงอาทิตย์ส่งผลทำลายล้างโลก (จริงหรือ?)
       มีความกังวลว่าการกลับขั้วแม่เหล็กของดวงอาทิตย์จะทำให้เกิดพายุสุริยะที่รุนแรง แต่ข้อเท็จจริงคือดวงอาทิตย์มีการกลับขั้วแม่เหล็กทุกๆ 11 ปี โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2021 ไม่ใช่ปี 2012 นอกจากนี้เรายังไม่พบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบรุนแรงต่อมนุษย์ ส่วน “จุดมืด” (Sunspot) ที่กังวลว่าจะส่งผลต่อการเกิดพายุรุนแรงนั้น จากข้อมูลที่มีการศึกษาวัฏจักรดวงอาทิตย์พบว่า ในบางวัฏจักรที่มีจุดมืดเยอะนั้นไม่ได้เกิดพายุสุริยะมากตามไปด้วย
     
       “จุดมืดนี้มาและไปทุกๆ 11 ปี ที่บริเวณดังกล่าวจะเย็นกว่าบริเวณอื่นบนดวงอาทิตย์เล็กน้อย และเมื่อเทียบขนาดกับโลกจุดดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่า คุณอาจคาดไว้ว่าเมื่อมีจุดมืดมากก็จะมีพายุสุริยะมากด้วย แต่จริงๆ แล้วทั้งสองปรากฏการณ์ไม่ได้สัมพันธ์กัน สำหรับปริมาณจุดมืดมากสุดบนดวงอาทิตย์จะเกิดขึ้นราวปลายปี 2013 ไม่ใช่ปี 2012 คาดว่ามีพายุสุริยะน้อยกว่าที่ผ่านมา และผลกระทบอาจทำให้มือถือและดาวเทียมทำงานได้ไม่เต็มที่นัก เมื่อถึงวันนั้นจำไว้ว่าคุณต้องหาวิธีเดินทางได้โดยไม่พึ่งจีพีเอส” ศ.เบอร์เนลล์กล่าว
     
       สนามแม่เหล็กกลับทิศโลกปั่นป่วน?
       “สนามแม่เหล็กโลกกลับทิศอยู่ตลอดเวลาโดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ 750,000 ปีก่อน ขณะที่มนุษย์ที่เริ่มรู้จักใช้เครื่องมือเกิดขึ้นบนโลกเมื่อ 2.5 ล้านปีก่อน จากเวลาดังกล่าวมาถึงทุกวันนี้มีการกลับทิศสนามแม่เหล็กแล้ว 11 ครั้ง และเราก็ยังคงอยู่ ไม่ปรากฏว่ามีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ และคล้ายว่าเมื่อสนามแม่เหล็กโลกกลับทิศจะพบว่าสนามแม่เหล็กอ่อนเล็กน้อยก่อนการกลับทิศ” นักดาราศาสตร์หญิงจากออกซ์ฟอร์ดกล่าว
     
       ทั้งนี้ การกลับทิศของสนามแหล็กใช้เวลาถึง 5,000 ปีจึงแล้วเสร็จ โดยเริ่มจากสนามแม่เหล็กอ่อนลงอย่างช้าๆ และปัจจุบันสนามแม่เหล็กกำลังอ่อนลงปีละ 5% ซึ่งอาจถึงเรากำลังเข้าสู่ช่วงการกลับทิศสนามแม่เหล็กใหม่ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทิศทางการหมุนของโลก
     
       หายนะจากดาวเคราะห์-ดาวนิบิรุ?
       ในปี 2012 ไม่มีการเรียงตัวของดาวเคราะห์แต่อย่างใด และแม้จะมีการเรียงตัวของดาวเคราะห์ก็ไม่ส่งผลกระทบทั้งต่อแรงดึงดูดหรือแรงน้ำขึ้นน้ำลงบนโลก หากทำแผนภูมิวงกลมแสดงอิทธิพลของดึงดูดที่กระทำต่อโลกจะพบว่าดวงอาทิตย์มีอิทธิพลมากที่สุด และดวงจันทร์มีผลกระทบรองลงมา ส่วนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ส่งผลกระทบน้อยมากจนไม่มองเห็นผลที่แสดงบนแผนภูมิ ส่วนแรงน้ำขึ้นน้ำลงนั้นดวงจันทร์ส่งอิทธิพลมากสุดตามมาด้วยดวงอาทิตย์
     
       ในอดีตเคยมีการเรียงตัวของดาวเคราะห์ 5 ดวง คือเมื่อเดือน ก.พ.1962 และ เดือน พ.ค.2000 พร้อมกันนี้ ศ.เบอร์เนลล์ยังยกตัวอย่างการเรียงตัวของดาวเคราะห์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2008 ซึ่งปรากฏดวงจันทร์ ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีเรียงกันบนฟ้า กลายเป็นภาพ “พระจันทร์ยิ้ม” ที่หลายคนประทับใจ
     
       นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “ดาวนิบิรุ” (Nibiru) ที่เล่ากันว่าชาวสุเมเรียนสังเกตพบดาวเคราะห์ดังกล่าวเมื่อ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล และพบว่าคาบโคจรของดาวเคราะห์ดวงนี้คือ 3,600 ปี โดยมีวงโคจรที่เป็นวงรีค่อนข้างมาก ซึ่งดาวเคราะห์ดวงนี้จะชนโลกในวันที่ 21 ธ.ค.2012
     
       ทั้งนี้ ชาวสุเมเรียนเห็นดาวนิบิรุด้วยตาเปล่าจากการสะท้อนแสงของดวงอาทิตย์ เพราะยุคนั้นยังไม่มีอุปกรณ์ช่วยในการศึกษาวัตถุบนท้องฟ้า แต่ดาวเคราะห์ดวงนี้มีระยะไกลกว่าดาวพลูโต 10 เท่า ในขณะที่เราไม่สามารถมองเห็นดาวพลูโตได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ชาวสุเมเรียนจะมองเห็นดาวดวงนี้
     
       อีกทั้งเรื่องเล่ายังบอกอีกว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ห่างออกไป 400 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งระยะ 1 หน่วยดาราศาสตร์คือระยะระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์หรือ 150 ล้านกิโลเมตร หากเรามองดาวเคราะห์ที่ระยะดังกล่าวด้วยแสงสะท้อน จะต้องมีดวงอาทิตย์มากถึง 150 ดวง
     
       “ดังนั้น มันไม่ใช่ดาวเคราะห์ แล้วเป็นดาวแคระน้ำตาล (Brown Dwarf) ได้ไหม? ถ้าเรามองเห็นดาวดวงนั้นที่ระยะ 400 หน่วยดาราศาสตร์ได้ แสดงว่ามันต้องเป็นดาวฤกษ์หรือดาวเคราะห์ที่สว่างมากๆ และคนบอกว่าตอนนี้ดาวนิบิรุอยู่ห่างออกไป 7 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งหากเราเคยเห็นมันที่ระยะไกลกว่านี้ ตอนนี้ดาวนิบิรุต้องสว่างมากพอๆ กับดวงจันทร์และมองเห็นได้ตาเปล่าในตอนกลางวัน แต่ไม่มีใครเห็น ดังนั้น มันไม่มีจริง เป็นแค่เรื่องแต่ง” ศ.เบอร์เนลล์สรุปว่าความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นจริง
     
       สูญพันธุ์เมื่อ “ดาวเคราะห์น้อย” พุ่งชนโลก?
       อุกกาบาตผ่านสู่ชั้นบรรยากาศโลกทุกวัน บางครั้งทำให้เกิดดาวตกลูกไฟ (fireball) บางครั้งทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่และเมื่อ 65 ล้านปีก่อนดาวเคราะห์น้อยขนาด 100 กิโลเมตร พุ่งชนโลกซึ่งทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตชิกซูลูบ (Chicxulub) ในเม็กซิโก และเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ จึงมีโครงการเฝ้าระวังทางอวกาศเพื่อเฝ้าระวังดาวเคราะห์น้อยที่เคลื่อนมาเข้าใกล้โลก
     
       ศ.เบอร์เนลล์กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเฝ้าจับตาวัตถุขนาดใหญ่กว่า 200 เมตรประมาณ 1,000 วัตถุที่เคลื่อนมาเข้าใกล้โลกในระยะ 20 เท่าของระยะทางระหว่างโลกและดวงจันทร์ ซึ่งหากจะมีอะไรพุ่งชนโลกในเดือน ธ.ค.2012 ตอนนี้เราต้องทราบข้อมูลนั้นแล้ว แต่เรายังไม่พบว่าจะมีการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย และหากทราบว่ามีเราจะเตรียมรับมือด้วยการหาทางเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้น แต่ไม่ใช่การระเบิดทิ้งเพราะจะทำให้เกิดวัตถุอีกหลายพันชิ้นให้เฝ้าจับตาดู
     
       ฤๅโลกจะถูก “หลุมดำ” กลืนกิน?
       ในกาแลกซีทางช้างเผือก (Milky Way) ของเรานั้นมี “หลุมดำ” อยู่ใจกลางเหมือนกาแลกซีอื่นๆ ในเอกภพ แต่เรามองไม่เห็นรูปร่างของมัน ทั้งนี้ หลุมดำใจกลางกาแลกซีของเรานั้นอยู่ไกลออกไป 26,000 ปีแสง นั่นหมายความว่าหากโลกเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าแสงยังต้องใช้เวลาถึง 26,000 ปีจึงจะไปถึงหลุมดำ ซึ่ง ศ.เบอร์เนลล์กล่าวอย่างมั่นใจว่าเราจะไม่ถูกดูดเข้าไปในหลุมดำอย่างแน่นอน
     
       สำหรับจุดจบของโลกในมุมมองนักดาราศาสตร์ผู้พบพัลซาร์คือการที่เราไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้ และท้ายที่สุดแล้วโลกก็จะพบจุดจบไปก่อนวาระสุดท้ายของดวงอาทิตย์ที่เป็นไปตามวัฏจักเกิด-ดับของดวงดาวในอีก 5 พันล้านปี นอกจากนี้ในอีก 3 พันล้านปีกาแลกซีของเราจะชนกับกาแลกซีแอนโดรมีดา (Andromeda) ซึ่งเราคงมีโอกาสรอดหากเราหาที่อยู่ใหม่ได้

ตัวอย่างพัลซาร์ที่บันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (hubblesite.org)
ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงโจเซลีน เบลล์ เบอร์เนลล์

credit:http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000094912

สิ่งมีชีวิตอยู่ที่ขั่วโลกเหนือ-ใต้


ลงพื้นที่สำรวจเขตต้องห้าม “เชอร์โนบิล”



หลังเกิดอุบัติเหตุเมื่อปี 1986 รอบๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลกลายเป็นพื้นที่ต้องห้ามในเข้าไปอยู่อาศัย พื้นที่ดังกล่าวปนเปื้อนไปด้วยฝุ่นรังสีและกลายเป็นพื้นที่รกร้าง ล่าสุดบีบีซีได้ลงพื้นที่สำรวจร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาผลกระทบจากการปนเปื้นทางรังสีต่อสิ่งมีชีวิตที่นั่น ไปดูกันว่าผ่านไป 25 ปีพื้นที่ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง




สัตว์หลายชนิดโดยเฉพาะนกใช้ประโยชน์จากอาคารว่างเปล่า นักนิเวศวิทยาหลายคนกล่าวว่า การไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ก็มีทีมนักวิจัยบางกลุ่มที่บอกว่าพวกเขาพบหลักฐานของผลกระทบที่แฝงจากการปนเปื้อน





ทีมนักวิทยาศาสตร์เข้าสำรวจพื้นที่ป่าเรดฟอเรสต์ (Red Forest) ซึ่งมีพื้นที่บางส่วนที่มีการปนเปื้อนรังสีค่อนข้างสูง โดยไกร์ รูดอล์ฟเซน (Geir Rudolfsen) จากสำนักการป้องกันการแผ่กระจายทางรังสีนอร์เวย์ (Norwegian Radiation Protection Authority) ได้มาสำรวจภาวะเจริญพันธุ์ของนักในพื้นที่ดังกล่าวและบอกว่าป่าในบริเวณที่มีการปนเปื้อนสูงนั้นมีการเจริญพันธุ์ที่น้อยผิดปกติ




ทีมนักวิทยาศาสตร์ลงสำรวจพื้นที่ซึ่งห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เสียหายไม่ถึง 1 กิโลเมตร ในบริเวณที่มีการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ปนเปื้อนทางรังสีและพื้นที่ซึ่งค่อนข้างปนเปื้อนน้อยกว่า พวกเขาพบว่าในพื้นที่ซึ่งปนเปื้อนทางรังสีมากกว่ามีสัตว์อาศัยอยู่น้อยกว่า





ในขณะที่ทีมสำรวจหลักเตรียมตาข่ายเพื่อดักจับนก สมาชิกบางคนวางกับดักแบบไม่อันตรายเพื่อจับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและตรวจวัดการแผ่รังสีในทุกจุดที่วางกับดัก





ในค่ายพักชั่วคราว ทีมสำรวจได้ทำการบันทึกรายละเอียดของนกทุกตัวที่ดักจับได้ด้วยตาข่าย โดยพวกเขาทำการวัด ชั่งน้ำหนักและเก็บตัวอย่างเลือดจากสัตว์ทุกตัวที่จับได้





ระหว่างออกสำรวจทีมนักวิทยาศาสตร์พบฝูงม้าป่าพรีวอลสกี (Przewalski) ซึ่งปล่อยสู่พื้นที่ต้องห้ามเมื่อปี 1998 และมีความหวังว่าม้าที่ตกอยู่ในวิกฤตเสี่ยงสูญพันธุ์นี้จะเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ปลอดมนุษย์ พวกมันกำลังขยายพันธุ์ แต่นักวิทยาศาสตร์ในยูเครนกล่าวว่าพวกมันก็ยังคงถูกคุกคามจากการบุกรุกเข้าไปล่า





ในหมู่บ้านโคพาชิ (Kopachi) ของยูเครนซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่อยุ่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุด มีโรงเรียนประถมเป็นสิ่งปลูกสร้างเดียวที่เหลืออยู่ ภายในนั้นยังคงมีร่องรอยของเล่น อุปกรณ์วาดเขียน และหนังสือหลงเหลือหลังจากเด็กๆ ถูกอพยพออกไป





ร่องรอยส่วนหนึ่งของเมืองปริพยาต (Pripyat) เมืองที่ใหญ่ที่สุดซึ่งกลายเป็นพื้นที่ต้องห้าม ซึ่งหลังจากเกิดอุบัติเหตุผู้คนกว่า 50,000 คน ได้อพยพออกไป ถึงทุกวันนี้เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเมืองแห่งนี้สิ้นสุดและเริ่มต้นที่จุดใด





ชิงช้าสวรรค์ของเมืองปริพยาตหรืออีกชื่อหนึ่งคือ “เมืองผี” ไม่เคยถูกใช้งานจริง เพราะวันเปิดใช้งานห่างจากวันเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่กี่วัน ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปเมืองร้างนี้ต้องสวมหน้ากากกันฝุ่นปนเปื้อนทางรังสี

พบโลกมี “โทรจัน” ใช้วงโคจรร่วมกัน

ภาพวาดจำลองการค้นพบ "โทรจัน" หรือ "ดาวเคราะห์น้อยทรอย" ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนำหน้าโลกในระยะ 80 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนักดาราศาสตร์ระบุว่าในช่วง 100 ปีข้างหน้าโทรจัน 2010 ทีเค 7 นี้จะไม่เข้าใกล้โลกในระยะต่ำกว่า 24 ล้านกิโลเมตรอย่างแน่นอน ในภาพแสดงวงโคจรของโทรจันด้วยเส้นสีเขียว ส่วนวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์แทนด้วยจุดสีน้ำเงิน (เอเอฟพี)

นักดาราศาสตร์พบโลกมี “โทรจัน” ร่วมอยู่ในวงโคจร ขนาด 300 เมตรอยู่ตำแหน่งนำหน้าดาวเคราะห์ของเรา ก่อนหน้านี้เชื่อว่ามีแต่ไม่เคยเห็นเนื่องจากพบได้ยากในช่วงเวลากลางวัน ชี้วงโคจรดาวเคราะห์น้อยนี้มั่นคงไปอย่างน้อย 1,000 ปี ภายในศตวรรษนี้จะไม่เข้าใกล้โลกในระยะต่ำกว่า 24 ล้านกิโลเมตร 
       
       แม้จะมีขนาดเล็กมากเพียง 300 เมตรแต่วัตถุในอวกาศที่เพิ่งค้นพบนี้ถูกเรียกว่า “โทรจัน” (Trojan) หรือ “ดาวเคราะห์น้อยทรอย” เพราะอยู่ในตำแหน่งนำหน้าหรือตามหลังดาวเคราะห์ ซึ่งการอยู่ในวงโคจรเดียวกันนี้ทำให้ดาวเคราะห์และดาวเคราะห์น้อยประเภทนี้ไม่ชนกัน โดยเอเอฟพีระบุว่านักดาราศาสตร์ได้รายงานการค้นพบดังกล่าวในวารสารเนเจอร์ (Nature)
       
       นักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศอินฟราเรดไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer: WISE) ศึกษาข้อมุลและพบดาวเคราะห์น้อยทรอยที่ใช้วงโคจรร่วมกับโลกนั้นอยู่ห่างจากโลกในตำแหน่งนำหน้า 80 ล้านกิโลเมตร
       
       ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์คิดมานานแล้วว่าโลกนั้นมีดาวเคราะห์น้อยทรอยร่วมวงโคจรอยู่ แต่พวกเขาพิสูจน์ได้ลำบากเพราะเป็นเรื่องยากที่จะพบดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวในช่วงกลางวัน แต่มาร์ติน คอนนอร์ส (Martin Connors) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอาธาบาสกา (Athabasca University) แคนาดา หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่ากล้องไวส์ช่วยให้เราเห็นมุมมองที่เห็นได้ยากจากพื้นโลก
       
       ข้อมูลจากบีบีซีนิวส์ระบุว่าคอนนอร์สและทีมได้กวาดดูข้อมูลบนท้องฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.2010-ก.พ.2011 โดยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ในความร่วมมือของแคนาดา-ฝรั่งเศสและฮาวายใน มัวนา เคีย ฮาวาย เพื่อค้นหาตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยทรอย
       และยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้
       
       ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเดียวกับเราอย่างดาวพฤหัสบดี ดาวอังคารและดาวเนปจูน ต่างก็มีดาวเคราะห์ทรอยอยู่ร่วมวงโคจร รวมถึงดวงจันทร์ของดาวเสาร์ซึ่งมีดาวเคราะห์น้อยทรอยร่วมวงโคจรถึง 2 ดวง ส่วนดาวเคราะห์น้อยทรอยของเรานั้นมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า 2010 ทีเค7 (2010 TK7) และนักดาราศาสตร์สนใจโทรจันของโลกดวงนี้เพราะมีวงโคจรต่างไปจากโทรจันดวงอื่น
       
       ข้อมูลต่อไปนี้ช่วยให้ผู้ที่กังวลว่าดาวเคราะห์น้อยทรอยจะพุ่งชนโลกได้สบายใจขึ้น โดยคอนนอร์สกล่าวว่า ดาวเคราะห์น้อยทรอยที่เพิ่งค้นพบนี้มีวงโคจรที่เสถียรไปอย่างน้อย 1,000 ปี ส่วนนาซาเสริมว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะไม่เข้าใกล้โลกในระยะต่ำกว่า 24 ล้านกิโลเมตรในอีก 100 ปีข้างหน้า


credit:http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000093897


พบกะโหลก “ลิงเอป” ในยูกันดาอายุ 20 ล้านปี

ฟอสซิลกะโหลกลิงเอปอายุ 20 ล้านปี (รอยเตอร์)
แผนที่แสดงบริเวณที่คขุดพบกะโหลกลิงเอป (เอเอฟพี)

ทีมนักบรรพชีวินวิทยายูกันดาและฝรั่งเศสประกาศพบกะโหลก “ลิงเอป” อายุ 20 ล้านปี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูกันดา โดยฟอสซิลบรรพบุรุษลิงไพรเมทนี้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ชี้การค้นพบอาจเผยประวัติศาสตร์ด้านวิวัฒนาการของพื้นที่ 
      
       “นี่เป็นครั้งแรกที่พบกะโหลกลิงเอปที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในยุคนี้ มันเป็นฟอสซิลที่สำคัญมากและจะเติมยูกันดาเข้าไปในแผนที่โลกวิทยาศาสตร์” เอเอฟพีระบุคำพูดของ ดร.มาร์ติน พิกฟอร์ด (Dr.Martin Pickford) นักบรรพชีวินวิทยาจากคอลเลจ เดอ ฟรองซ์ (College de France) ในกรุงปารีส
      
       ฟอสซิลกะโหลกนี้เป็นของลิงเอป (Ape) หรือลิงไม่มีหางเพศผู้สายพันธุ์ ยูกันดาพิเธคัส เมเจอร์ (Ugandapithecus Major) ซึ่งเป็นญาติห่างๆ ของลิงใหญ่ (great ape) โดยลิงเอปสายพันธุ์ดังกล่าวได้อพยพเข้าสู่บริเวณที่ค้นพบฟอสซิลเมื่อประมาณ 20 ล้านปีก่อน ทั้งนี้ ทีมสำรวจได้พบชิ้นส่วนของลิงเอปนี้ในเศษซากภูเขาไฟดับสนิท (extinct volcano) ในบริเวณการาโมจา (Karamoja) ทางตะวันออกเฉียงเหนืออันห่างไกลของยูกันดา
      
       จากการศึกษาฟอสซิลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า สัตว์กินพืชที่ชอบปีนป่ายต้นไม้นี้ตายตอนอายุราว 10 ปี โดยพิกฟอร์ดอธิบายลักษณะของลิงเอปสายพันธุ์นี้ว่ามีขนาดหัวเท่ากับชิมแปนซี แต่มีขนาดสมองที่เล็กกว่า โดยมีขนาดประมาณสมองลิงบาบูน
      
       ด้าน ศ.บรีจิตต์ เซอนูต์ (Prof.Brigitte Senut) จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาฝรั่งเศส (French National Museum of Natural History) กล่าวว่า ตัวอย่างฟอสซิลที่ขุดพบนี้จะถูกนำไปยังกรุงปารีสเพื่อตรวจสอบด้วยรังสีเอกซ์ และจัดทำข้อมูลก่อนที่จะนำกลับมายังยูกันดาอีกครั้ง
      
       “ฟอสซิลจะได้รับการทำความสะอาดในฝรั่งเศส จัดเตรียมในฝรั่งเศส และจากนั้นประมาณ 1 ปีก็จะถูกนำกลับยังประเทศนี้คืน” ศ.เซอนูต์กล่าว โดยเธอบอกอีกว่า คณะสำรวจจากฝรั่งเศสมาเยือนยูกันดาด้วยทุนสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นเวลา 25 ปี
      
       ทั้งเอเอฟพี และบีบีซีนิวส์ยังระบุอีกว่า การาโมจาเป็นพื้นที่อันห่างไกลความเจริญและแห้งแล้งที่สุดในยูกันดา โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างเงียบสงบ หลังจากความวุ่นวายเนื่องจากการปล้นสะดมระหว่างชุมชนเผ่าเร่ร่อน

ชิมแปนซี หนึ่งในชนิดลิงไม่มีหางหรือลิงเอป (ภาพจาก Great Ape Trust)

ดร.มาร์ติน พิคฟอร์ด โชว์ชิ้นส่วนกระโหลกลิงเอปที่ค่อนข้างสมบูรณ์ (รอยเตอร์)
credit:http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000096465

Norbert Wiener

Norbert Wiener


ถ้าเด็กชาย Wolfgang มิได้มีพ่อชื่อ Leopold Mozart โลกก็คงไม่มีนักดนตรีอัจฉริยะชื่อ Wolfgang Mozart ในทำนองเดียวกันถ้า Norbert ไม่มีพ่อชื่อ Leo Wiener โลกก็ไม่มีนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะชื่อ Norbert Wiener เช่นกัน
       
       Leo Wiener (พ.ศ.2405-2482) ผู้บิดาเกิดที่เมือง Bialystok ในรัสเซีย (ปัจจุบันอยู่ในโปแลนด์) ในครอบครัวเชื้อชาติยิวที่มีการศึกษาดี Leo มีความเชี่ยวชาญด้านภาษามาก เพราะสามารถพูดภาษาเยอรมัน รัสเซีย ฝรั่งเศส อิตาเลียน และโปแลนด์ได้คล่องแคล่ว เพราะเป็นคนที่สามารถรู้หลักไวยากรณ์ของภาษาต่างๆ ได้รวดเร็ว อีกทั้งมีความเก่งทางคณิตศาสตร์ด้วย โดยได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารคณิตศาสตร์มากมาย และความสามารถนี้ได้ถูกถ่ายทอดสู่บุตรชายในเวลาต่อมา เมื่ออายุ 18 ปี Leo ได้เป็นสมาชิกของสมาคมชาวเมือง Bialystok ที่มีกฎห้ามดื่มสุรา ห้ามสูบบุหรี่ และห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ ตามแบบฉบับของนักประพันธ์ Leo Tolstoy ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และความประพฤติเหล่านี้ ได้ถูกถ่ายทอดสู่ Norbert ผู้เป็นลูกชายด้วย
       
       เพราะงานที่กำลังทำอยู่มิได้มั่นคง Leo จึงอพยพครอบครัวไปอเมริกาเพื่อเป็นครูสอนภาษาที่เมือง Kansas City ในรัฐ Missouri และเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Missouri ขณะอยู่ที่นั่นเขาได้ผลิตผลงานวรรณกรรมมากมาย เช่น แปลวรรณกรรมของ Tolstoy และเรียบเรียงประวัติความเป็นมาของภาษายิว เป็นต้น
       
       เมื่ออายุ 31 ปี Leo ได้สมรสกับ Bertha Khan ผู้เป็นลูกสาวเจ้าของธุรกิจที่ร่ำรวย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2437 ในเวลาต่อมา Bertha ได้ให้กำเนิดบุตรชายชื่อ Norbert ที่เมือง Columbia ในรัฐ Missouri จากนั้นครอบครัวได้อพยพไปเมือง Cambridge ในรัฐ Massachusetts เพราะ Leo ได้งานใหม่เป็นศาสตราจารย์ภาษา Slav ที่มหาวิทยาลัย Harvard
       
       Leo เล่าว่า ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ของ Norbert เริ่มปรากฏเมื่อลูกชายมีอายุเพียง 18 เดือน เพราะพี่เลี้ยงได้สังเกตเห็นว่า เวลาเธอเขียนตัวอักษรต่างๆ บนพื้นทราย ทารก Norbert ได้จ้องมองสิ่งที่เธอเขียนอย่างตั้งใจ อีก 3 วันต่อมา เขาก็รู้จักอักษรเหล่านั้นหมด ตั้งแต่นั้นมา Norbert ก็เริ่มชอบอ่านหนังสือ Leo จึงสอนลูกให้รู้จักสะกดคำต่างๆ ตั้งแต่ Norbert ,uอายุ 3 ขวบ ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ Norbert ก็สามารถอ่านหนังสือได้คล่อง เมื่ออายุ 6 ขวบ ก็สามารถอ่านหนังสือของ Darwin ได้ Leo จึงประกาศให้เพื่อนบ้านทุกคนรู้ว่า เขาต้องการสร้างให้ลูกเป็นอัจฉริยะ โดยจะจัดการเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตของลูกด้วยตนเอง เมื่ออายุ 7 ขวบ Norbert ได้เข้าเรียนชั้น ป.3 แต่เมื่อขึ้นชั้น ป.4 การเรียนของ Norbert ก็เริ่มตก Leo จึงให้ลูกลาออกจากโรงเรียน แล้วสอนหนังสือให้ลูกด้วยตนเองที่บ้าน โดยให้เรียนพีชคณิต ละติน และภาษาเยอรมันเป็นเวลา 2 ปี
       
       เมื่ออายุ 8 ปี สายตาของ Norbert เริ่มสั้นจนต้องหยุดอ่านหนังสือเป็นเวลา 6 เดือน ถึงกระนั้นเขาก็สามารถเรียนหนังสือได้ โดยมีคนมาอ่านให้ฟัง การเรียนด้วยวิธีฟังนี้ทำให้ Norbert รู้สึกสบายใจ เพราะได้ฝึกจำ และได้พบว่าสามารถจำบทละครโอเปราได้หมดโดยการฟังเพียงครั้งเดียว
       
       Leo คิดว่า เขาเป็นคนที่หวังดีต่อลูกตลอดเวลา แต่ในสายตาของ Norbert พ่อเป็นคนโหด เพราะถ้า Norbert ทำอะไรผิด พ่อจะโกรธอย่างรุนแรง ยิ่งเมื่อพ่อเที่ยวบอกใครๆ ว่า การที่ Norbert เก่งก็เพราะพ่อฝึกฝนให้ Norbert รู้สึกสะเทือนใจมาก เพราะคิดว่าพ่อกำลังบอกโลกว่าที่ Norbert โง่ เพราะโง่เอง ความรู้สึกของเขาที่มีต่อพ่อจึงมีทั้งรักและเกลียด ดังในหนังสือ The Human Use of Human Beings ที่ Norbert เขียนอุทิศให้พ่อ เขาได้กล่าวว่า พ่อเป็นทั้งครูที่เขารักมากที่สุด และศัตรูที่เขาเกลียดที่สุด
       
       เมื่อ Norbert อายุ 9 ขวบ ครอบครัว Wiener ได้อพยพไปเมือง Harvard ในรัฐ Massachusetts เพื่อให้ Norbert ได้เข้าเรียนที่โรงเรียน Ayer High School Norbert ได้เรียนที่นั่นเป็นเวลา 3 ปี จนสำเร็จการศึกษาและได้ไปเรียนต่อที่วิทยาลัย Tufts ในช่วงเวลานี้ Norbert สนใจวิชาชีววิทยามาก แต่ก็ได้เรียนฟิสิกส์ กับคณิตศาสตร์ด้วย Norbert พบว่าวิชา calculus และ differential equation ง่าย แต่ทฤษฎี Galois ยาก ขณะเรียนที่ Tufts Leo ก็ยังสอนหนังสือให้ Norbert ที่บ้านจน Norbert สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมเมื่ออายุ เพียง 14 ปี
       
       เมื่อสำเร็จปริญญาตรี Norbert Wiener เริ่มมีอาการซึมเศร้า (เขาเป็นโรคนี้จนตลอดชีวิต) และได้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Harvard ในระยะแรก Norbert ตั้งใจจะทำปริญญาเอกด้านชีววิทยา แต่เรียนไม่ได้เพราะมีสายตาสั้นมาก จนดูกล้องจุลทรรศน์ไม่เห็นอะไรเลย และเวลาทำการทดลอง Norbert ก็ขาดทักษะความคล่องแคล่วในการใช้มือ เพราะสมัยเรียนหนังสือที่ Tufts Norbert ทำคะแนนวิชาปรัชญาได้ดี บิดาจึงสั่งไม่ให้เรียนชีววิทยา แต่ให้เรียนปรัชญาแทนที่มหาวิทยาลัย Cornell Norbert ไม่รู้สึกชอบชีวิตที่มหาวิทยาลัย Cornell เลย จึงเรียนได้ไม่ดี และอ่านหนังสืออะไรๆ ก็ไม่รู้เรื่อง เมื่อทุนการศึกษาที่ Cornell ถูกตัด Norbert จึงขออนุญาตบิดาย้ายกลับไปเรียนตรรกวิทยาเชิงคณิตศาสตร์ที่ Harvard ต่อ และได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องการเปรียบเทียบทฤษฎีของ Ernst Schroeder กับทฤษฎีของ Whitehead และ Russell
       
       ขณะเรียนที่มหาวิทยาลัย Harvard Norbert Wiener รู้สึกไม่ชอบ Harvard มากไปกว่า Cornell แต่ก็ได้พยายามจนสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต เมื่ออายุ 19 ปี จึงนับว่าเร็วกว่าคนทั่วไปประมาณ 6 ปี จากนั้นได้ทุนไปวิจัยต่อที่มหาวิทยาลัย Cambridge ในอังกฤษกับ Bertrand Russell โดยตั้งใจจะวิจัยด้าน Mathematical Logic
       
       การได้เดินทางไปต่างประเทศ และการอยู่ห่างจากพ่อ ทำให้หนุ่ม Wiener รู้สึกดีใจมาก เพราะนั่นคือเสรีภาพที่เขาได้โหยหามานาน แต่เมื่อ Russell ตระหนักว่า Wiener มีความรู้คณิตศาสตร์ค่อนข้างน้อย จึงแนะนำให้ไปเรียนวิชา Analysis กับ G.H.Hardy เพิ่มเติม และให้ศึกษาตำรา Mathematical Physics ของ A. Einstein ด้วย Wiener คิดว่า Hardy เป็นอาจารย์ที่มีความสามารถสูงมาก เพราะ Hardy ได้สอน Complex Variables ให้ Wiener จนเข้าใจ ถึง Wiener จะยอมรับความสามารถของ Hardy แต่ก็ไม่ยอมรับทัศนคติด้านคณิตศาสตร์ของเขา ผู้คิดว่าคณิตศาสตร์มีความสวยงามเชิงนามธรรม และไม่เคยสนใจความมีประโยชน์ด้านรูปธรรมเลย แต่ Wiener สนใจการประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ในชีวิต เขาคิดว่านักคณิตศาสตร์ควรสนใจโลกภายนอก และควรใช้คณิตศาสตร์แก้ปัญหาธรรมชาติ ดังนั้น Wiener จึงคิดว่า Hardy เป็นนักคณิตศาสตร์ที่ใช้คณิตศาสตร์เป็นยานหลบหนีโลกแห่งความจริง (Hardy เองก็ไม่ตระหนักว่าคณิตศาสตร์ที่ตนทำวิจัยนั้น ในเวลาต่อมาได้ถูกนำใช้ในวิชาสื่อสารทางไกล รหัสลับ และคอมพิวเตอร์ ฯลฯ)
       
       เพราะ Bertrand Russell จะไปทำงานวิจัยในฤดูใบไม้ผลิที่มหาวิทยาลัย Harvard ดังนั้น Wiener จึงว่างเรียนและได้ออกเดินทางไปฝึกงานช่วงสั้นๆ ที่มหาวิทยาลัย Gottingen ในเยอรมนี เพราะที่นั่นมี David Hilbert หลังฝึกงานก็เดินทางกลับอังกฤษ พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มหาวิทยาลัย Cambridge ต้องปิดสอน Wiener วัย 20 ปี จึงเดินทางกลับอเมริกา เพื่อหางานทำที่มหาวิทยาลัย Columbia และได้ไปเรียนวิชาปรัชญาเพิ่มเติมกับ John Dewey แต่เรียนได้ไม่นานก็ต้องลาออก เพราะไปทะเลาะวิวาทกับเพื่อนร่วมหอพัก
       
       ในฐานะที่สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตจาก Harvard Wiener จึงมีสิทธิ์สอนที่ Harvard (โดยไม่ได้รับเงินเดือน) และได้เลือกสอนวิชา Mathematical Logic แต่สอนได้ไม่ดี เพราะ Wiener สอนผิดบ่อยจน George David Birkhoff นักคณิตศาสตร์แห่ง Harvard ต้องลุกขึ้นชี้แจงและอธิบายครั้งแล้วครั้งเล่าว่า Wiener สอนผิด ผลที่ตามมาคือ Wiener ไม่ได้งานอาจารย์ที่ Harvard และได้กล่าวโทษ Birkhoff ว่าเป็นคนทำให้เขาพลาดงานตำแหน่งนี้ เพราะเขามีเชื้อชาติยิว นอกจากเหตุผลนี้แล้ว Birkhoff ก็ยังจงเกลียดจงชังพ่อ Leo ของเขาด้วย ที่ชอบอวดชาวบ้านว่าลูกชายเก่ง
       
       ในระยะแรกถึง Birkhoff จะไม่ยอมรับความสามารถของ Wiener แต่เมื่อ Wiener ได้ทำงานที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) Wiener ได้ร่วมกับ Birkhoff จัดสัมมนาคณิตศาสตร์ และจัดประชุมวิชาการระหว่าง Harvard กับ MIT โดยคนทั้งสองจะเขียนจดหมายถึงกันอย่างจริงใจ Wiener ทำงานที่ MIT จนเกษียณในปี 2503 ทั้งนี้เพราะเขาชอบ MIT มาก ที่ให้โอกาสเขาได้ใกล้ชิดกับวิศวกร และนักฟิสิกส์
       
       เมื่อสหรัฐฯ ประกาศสงครามกับเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขณะนั้น Wiener วัย 23 ปี มีสายตาสั้นมาก ดังนั้น จึงไม่ถูกเกณฑ์เป็นทหาร และได้ไปทำงานที่บริษัท General Electric แต่อยู่ที่นั่นได้ไม่นานก็ได้รับจดหมายจากศาสตราจารย์ Oswald Veblen แห่งมหาวิทยาลัย Princeton ให้ไปออกแบบปืนต่อสู้อากาศยาน Wiener รับงานใหม่นี้อย่างเต็มใจ และรู้สึกว่า คณิตศาสตร์เป็นประโยชน์ เพราะใช้ในการทำสงครามได้
       
       หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง Wiener คาดว่า Veblen คงชวนไปเป็นอาจารย์ที่ Princeton แต่เมื่อ Veblen ไม่เชิญ Wiener จึงรู้สึกผิดหวัง ประจวบกับช่วงเวลานั้น คู่หมั้นของน้องสาว Wiener เสียชีวิต Wiener ได้รับมรดกตำราคณิตศาสตร์ของว่าที่น้องเขยมากมายหลายเล่ม และเมื่อเขาได้อ่าน Theory of Integral Equations ของ Volterra กับ Theory of Functions ของ Osgood และ Theory of Integration ของ Lebesque Wiener รู้สึกว่า นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ตนเข้าใจคณิตศาสตร์สมัยใหม่ ทั้งๆ ที่ตอนได้รับปริญญา Ph.D. นั้น Wiener มีอายุ 19 ปี แต่เขาเพิ่งเข้าใจคณิตศาสตร์อย่างแท้จริง เมื่ออายุ 24 ปี
       
       ลุถึง พ.ศ. 2462 ชีวิตร่อนเร่พเนจรของ Wiener ก็สิ้นสุดลง เมื่อเพื่อนของบิดาที่ชื่อศาสตราจารย์ Osgood แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ได้จัดการให้ Wiener เป็นอาจารย์สอนที่ MIT ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นงานที่ดีแต่ไม่มีเกียรตินัก เพราะอาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ของ MIT มักไม่ทำวิจัยกัน และสอนคณิตศาสตร์เป็นงานบริการให้คณะอื่น เช่น วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สำหรับ Wiener เอง ขณะนั้นก็มิได้เป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ถึงจะมีงานวิจัยเรื่อง Logic บ้าง แต่ผลงานก็มีไม่มาก คือประมาณ 15 เรื่องเท่านั้นเอง
       
       เมื่อได้งานที่ MIT Wiener รู้สึกภูมิใจและมั่นใจในความสามารถของตนมากขึ้น จึงโหมทำงานวิจัยหนัก ภายในเวลาเพียง 12 ปี ก็มีผลงานที่สามารถอธิบายการเคลื่อนที่แบบบราวน์ (Brownian Motion) ได้ อีกทั้งได้วางพื้นฐานของทฤษฎีศักย์ (Potential Theory) ในวิชาไฟฟ้าสถิต และสร้างวิชาคณิตศาสตร์แขนงใหม่ ชื่อ Generalized Harmonic Analysis ด้วย
       
       สำหรับปรากฏการณ์การเคลื่อนที่แบบบราวน์นั้น เป็นที่รู้จักเป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อ Robert Brown นักชีววิทยาชาวอังกฤษได้สังเกตเห็นละอองเรณูเวลาลอยน้ำ จะเคลื่อนที่สะเปะสะปะตลอดเวลา เหตุการณ์นี้ไม่มีใครอธิบายได้ จนกระทั่ง พ.ศ.2448 Albert Einstein จึงได้อธิบายว่า การที่ละอองเรณูเคลื่อนที่สะเปะสะปะ เพราะมันถูกโมเลกุลของน้ำ (ที่ตามองไม่เห็น) พุ่งชนในทิศต่างๆ ตลอดเวลา เมื่อสูตรของ Einstein เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้คำตอบที่สอดคล้องกับผลการทดลอง โลกจึงยอมรับเป็นครั้งแรกว่า โมเลกุลและอะตอมมีจริง
       
       ในเมื่อโมเลกุลน้ำที่พุ่งชนละอองเรณูมีจำนวนมหาศาลและมีทิศต่างๆ กัน ดังนั้น การแก้สมการการเคลื่อนที่ของละอองเรณูตามวิธีของ Newton จึงใช้ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ Einstein จึงใช้สถิติในการแก้ปัญหานี้โดยแสดงให้เห็นว่า การแพร่กระจายของละอองเรณูสามารถคำนวณได้จากสมการการถ่ายเทความร้อน นั่นคือ ความหนาแน่นของอนุภาค ณ ตำแหน่ง และเวลาต่างๆ สามารถคำนวณหาได้ในลักษณะเดียวกับการคำนวณหาอุณหภูมิ ณ ตำแหน่งและเวลาต่างๆ ในตัวนำ ในที่สุด Einstein ได้สูตรของสัมประสิทธิ์การแพร่ซึม ในเทอมของค่าคงตัวต่างๆ ในธรรมชาติ เช่น จำนวน Avogadro และอุณหภูมิของน้ำ เป็นต้น สำหรับองค์ความรู้ที่ Einstein ใช้ในการศึกษาเรื่องนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐาน 3 ข้อ คือ
       
        (1) ในช่วงเวลาต่างๆ กันการเคลื่อนที่ของอนุภาคจะเป็นอิสระจากกันอย่างสมบูรณ์ คือ ไม่ขึ้นต่อกัน นั่นคือ Einstein สมมติว่า พฤติกรรมใดๆ ของอนุภาคในอดีต ไม่สามารถใช้บอกพฤติกรรมของอนุภาคในอนาคตได้
        (2) อนุภาคสามารถเคลื่อนที่ทิศใดก็ได้อย่างสะดวกและดีเท่ากันหมด
        (3) เส้นทางที่อนุภาคเคลื่อนที่มีความต่อเนื่องตลอดเวลา
       
       จากสมมติฐานเหล่านี้ Einstein ได้คำนวณพบว่า ระยะทางที่อนุภาคเคลื่อนที่ในช่วงเวลาหนึ่งเป็นปฏิภาคตรงกับรากที่สองของช่วงเวลานั้น
       
       แต่เวลานักคณิตศาสตร์ศึกษาปัญหานี้ พวกเขาจะไม่ยอมรับในความถูกต้องของสมมติฐานทั้ง 3 ข้อดังกล่าว จนกว่าจะมีการพิสูจน์แน่ชัดว่า สมมติฐานที่ว่านี้จริงและเหมาะสม ซึ่งทั้ง E. Borel, S. Banach, P. Levy, P. Erdos, M. Kac และ H. Lebesque ต่างก็ได้ศึกษาเรื่องนี้ แต่ไม่มีใครประสบความสำเร็จ จนกระทั่ง Wiener ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Wiener measure ซึ่งเหมาะสำหรับการศึกษาผลกระทบของแรงต่างๆ ที่เป็นอิสระจากกันในช่วงเวลานานและ Levy กับ Kolmogorov ได้พัฒนาเทคนิคต่อ จนเป็นทฤษฎี Stochastic Process ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน
       
       ในช่วง พ.ศ.2466-2468 Wiener ได้สนใจปัญหาไฟฟ้าสถิตที่ว่า ถ้ากำหนดประจุไฟฟ้ามาให้ปริมาณหนึ่ง ตัวนำไฟฟ้าควรมีรูปทรงใดจึงจะสามารถเก็บประจุเหล่านั้นได้ ในอดีต Zaremba ได้เคยพิสูจน์ให้เห็นว่า ตัวนำไฟฟ้าที่มีปลายแหลมจะไม่สามารถเก็บประจุได้ เพราะประจุจะรั่วออกที่ปลาย แต่ตัวนำรูปกรวย สามารถเก็บประจุได้และ Wiener ก็ได้พบหลักการว่า ตัวนำรูปทรงใดสามารถเก็บประจุได้ โดยการใช้เทคนิค ทฤษฎีศักย์ (Potential Theory) และได้กำหนดเกณฑ์ Wiener criterion ที่สามารถใช้ตัดสินว่า ตำแหน่งใดบนตัวนำที่ศักย์ไฟฟ้า ณ ตำแหน่งนั้นมีค่าต่อเนื่อง หรือไม่ต่อเนื่อง นั่นคือที่ใดมีประจุรั่วหรือไม่รั่วบ้าง
       
       ใน พ.ศ.2469 Wiener เริ่มสนใจ Theory of Generalized Functions หรือ Distribution Theory เมื่อ J.D. Jackson แห่งภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าที่ MIT ได้ขอให้ Wiener วางรากฐานเชิงคณิตศาสตร์ของวิชา Heaviside Calculus ที่ใช้ในการแก้สมการอนุพันธ์ด้วยวิธีแปลงแบบ Fourier หรือ Laplace เพื่อให้สมการอนุพันธ์อยู่ในรูป AX = B ซึ่งทำให้ได้ X = B/A ความยุ่งยากของเทคนิคนี้ คือ การแปลงค่า X กลับเพื่อหาคำตอบตามปกติจะยุ่งยากมาก (นี่คือวิธี Inverse Fourier-Laplace transform) และ Wiener ก็ได้พบว่าการคูณและหารในกรณีนี้คือ การใช้ตัวดำเนินการแบบ differentialtion และ integration
       
       หลังจากนั้น Wiener เริ่มสนใจปัญหาสัญญาณไฟฟ้าในวงจร ซึ่งวิศวกรไฟฟ้าเวลาวิเคราะห์แบบ Fourier จะกระจายสัญญาณที่เป็นคาบ (period) เป็นผลรวมของคลื่นแบบ sine และ cosine การวิเคราะห์นี้มีสูตรของ Parseval ที่แสดงให้เห็นว่า พลังงานทั้งหมดของสัญญาณในแต่ละคาบ คือ ผลบวกของพลังงานคลื่นย่อยที่มีความถี่ต่างๆ กัน ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกสเปกตรัมของสัญญาณ
       
       ปัญหาที่มักพบในวงจรไฟฟ้า คือ เวลามีสัญญาณที่ไม่เป็นคาบ สเปกตรัมของสัญญาณจะไม่เป็นไปตามที่กำหนด Wiener จึงขยายขอบเขตการวิเคราะห์แบบ Fourier โดยใช้วิธีใหม่ที่เรียกว่า Generalized Harmonic Analysis ซึ่งแทนที่จะพิจารณาพลังงานทั้งหมดในคาบหนึ่งๆ Wiener กลับพิจารณาพลังงานเฉลี่ยในช่วงเวลานานๆ แล้วหา limit ของค่าเฉลี่ย การคิดเช่นนี้ทำให้วิศวกรเข้าใจความคิดพื้นฐานที่มีในเทคนิควิเคราะห์แบบ Fourier ดีขึ้น ดังนั้น เมื่อ Wiener ตีพิมพ์ผลงานนี้ ชื่อเสียงของเขาก็โด่งดังจนเป็นที่ยอมรับทันที
       
       Wiener ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่ง MIT เมื่ออายุ 38 ปี และได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ National Academy of Sciences ได้รับรางวัล Bocher ซึ่งเป็นรางวัลด้าน Analysis ที่สมาคมคณิตศาสตร์มอบให้นักคณิตศาสตร์ผู้มีผลงานโดดเด่นที่สุดในทุก 5 ปี
       
       ถึงจะประสบความสำเร็จมามาก แต่ Wiener ก็ยังวิจัยคณิตศาสตร์ต่อไป โดยได้ศึกษาเรื่องสมการ integral ร่วมกับ E. Hopf และมีผลงานที่เป็นที่รู้จักในนามเทคนิค Wiener-Hopf นอกจากนี้ยังได้เขียนตำรา Analysis ที่ดีเด่นมากร่วมกับ R.E.A.C. Paley ด้วย และได้ศึกษากลศาสตร์ควอนตัมกับ Max Born ได้ขยายองค์ความรู้เรื่อง Statistical Mechanics ของ G.D.Birkhoff โดยพัฒนา Ergodic Theory ส่วนตำรา “The Homogeneous Chaos” ที่ตีพิมพ์ใน พ.ศ.2481 นั้น เป็นตำราที่นักคณิตศาสตร์ปัจจุบันใช้ศึกษา Nonlinear and Random Phenomena
       
       ใน พ.ศ.2476 Wiener ได้รู้จัก Arturo Rosenblueth ผู้เป็นนักสรีรวิทยาชาวเม็กซิกัน คนทั้งสองสนิทสนมกันมาก จึงร่วมมือกันวิจัยหาความสัมพันธ์ระหว่าง ระบบกลศาสตร์กับระบบสรีรวิทยา ในประเด็น feedback ความร่วมมือกันนี้ทำให้เกิดวิทยาการใหม่สาขา cybernetics
       
       นักวิทยาศาสตร์ทุกคนรู้ดีว่า เตาไฟฟ้าทุกเตามีอุปกรณ์ thermostat ที่ใช้ตัดไฟ เช่น เวลาเตามีอุณหภูมิต่ำ thermostat จะเปิดให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้า จนอุณหภูมิเตาเพิ่มสูงขึ้นๆ ถึงอุณหภูมิหนึ่ง thermostat ก็จะปิด ทำให้กระแสไฟฟ้าไม่ไหล แล้วเตาก็จะดับ ถ้ามีกระบวนการ feedback ความร้อนจากเตาจะถูกป้อนกลับ (feedback) เข้าไปในขั้นตอนที่ควบคุมการทำงานของเตา Wiener กับ Rosenblueth ได้นำความคิดนี้ไปสร้างแบบจำลองแสดงวงจรการทำงานของกล้ามเนื้อ
       
       เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง Wiener ได้ชะลอการวิจัยเรื่องนี้ แล้วสมัครช่วยชาติในสงคราม โดยจะวิจัยการใช้ปืนต่อสู้อากาศยานยิงเครื่องบินข้าศึก แต่ปัญหานี้ยากมากเพราะเครื่องบิน มีความเร็วสูงมาก ดังนั้น คนยิงจึงต้องใช้อุปกรณ์ช่วยในการยิง เช่น ต้องไม่เล็งตรงที่เครื่องบิน เพราะกว่ากระสุนจะเดินทางถึงเครื่องบินๆ ก็บินไปแล้ว ดังนั้น คนยิงต้องคำนวณตำแหน่งปัจจุบันของเครื่องบินโดยใช้เรดาร์ช่วย แล้วคาดคะเนวิถีบินของเครื่องบิน ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะไม่รู้จิตใจและนิสัยของนักบิน Wiener จึงต้องคิดหาสูตรของโอกาสดีที่สุดที่ปืนจะยิงเป้าถูก
       
       ความยุ่งยากในการหาสูตรยิง คือ ถ้าผู้ยิงป้อนข้อมูลจากเรดาร์เข้าระบบยิงมากเกินไป ปืนก็จะส่ายจนลำปืนไม่เสถียร ทำให้ยิงไม่ได้ Wiener ได้คิดวิธีขจัดความบกพร่องนี้ ด้วยวิธีเฉลี่ยข้อมูลทั้งหมดจากเรดาร์ ทำให้ปริมาณการส่ายไปมาของปืนลดลง จนผู้ยิงสามารถยิงเป้าได้แม่นยำขึ้น
       
       ในปี พ.ศ.2485 Julian Bigalow เพื่อนของ Wiener ได้สร้างอุปกรณ์ที่สามารถติดตามเครื่องบินได้นานถึง 10 วินาที และสามารถรู้ตำแหน่งของเครื่องบินในอีก 10 วินาทีต่อมาได้ Wiener ได้คิดทฤษฎีของตัวกรอง (filter) เพื่อขจัดสัญญาณรบกวน (noise) ที่เกิดในอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อเสริมให้ผลงานของ Bigalow ทำงานได้ดีขึ้น
       
       เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองใกล้สงบ Wiener หันไปสนใจปัญหา cybernetics อีก และได้จัดประชุมวิชาการเรื่อง Circular Causal กับ Feedback Mechanisms ร่วมกับ John von Neumann และได้ตีพิมพ์ผลงาน ชื่อ Cybernetics or Control and Communication in Animal and the Machine ด้วยการนำวิทยาการฟิสิกส์ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์มาบูรณาการ
       
       ในด้านชีวิตส่วนตัว Wiener ได้สมรสกับ Margaret Engemann ผู้เคยเรียนภาษารัสเซียกับบิดา Leo ของ Wiener เธอเล่าว่า หน้าที่หลักของเธอคือ ทำให้สามีมีความสุข เพราะเวลาอารมณ์ซึมเศร้าเข้าครอบงำ Wiener จะมีนิสัยแปลกๆ เช่น ชอบซักถามเพื่อนฝูงด้วยคำถามยากๆ เช่น สัตว์จะต้องมีขนาดใหญ่เพียงใด เพื่อเวลาตกเครื่องบินจึงจะไม่ตาย คำถามลักษณะนี้ทำให้เพื่อนๆ ของ Wiener ต้องลนลานหนี เวลาเห็นเขาเดินมา ตามปกติ Wiener ไม่แสดงอารมณ์ขุ่นเคืองเวลาถูกขัดคอ แต่มักรู้สึกกลัวว่า วันหนึ่งตาทั้งสองข้างจะบอดสนิท ดังนั้น เขาจึงฝึกคลำทาง โดยเอาหนังสือปิดหน้าเวลาเดิน
       
       Wiener เป็นคนมีน้ำใจดีต่อเพื่อนร่วมงานทุกคน โดยเฉพาะรุ่นน้อง และมักเชิญมารับประทานอาหารที่บ้านบ่อย เวลาใครเดินผ่านห้องที่เขาทำงาน เขาก็จะเสนอหนังสือให้ยืม สำหรับบุคลิกด้านลบก็คือ Wiener ต้องการความมั่นใจจากทุกคนตลอดเวลา ทั้งจากเพื่อนร่วมงาน ภารโรงและนิสิต เพราะเป็นคนมีอารมณ์อ่อนไหว ดังนั้นเวลาทำอะไรไม่สำเร็จ Wiener จะซึมเศร้ามาก แต่เวลาทำอะไรได้ เขาจะรู้สึกลิงโลดทันที
       
       ผลงานชิ้นสุดท้ายของ Wiener คือ การแต่งนวนิยายชื่อ The Tempster ที่เน้นให้เห็นผลกระทบของเทคโนโลยีต่อมนุษย์
       
       Norbert Wiener เสียชีวิตที่สวีเดน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2507 ด้วยโรคหัวใจวาย หลังจากเสร็จการบรรยายที่มหาวิทยาลัย Stockholm เล็กน้อย โลกยังระลึกถึงเขาในฐานะนักคณิตศาสตร์ผู้นำคณิตศาสตร์ที่เป็นนามธรรมมาประยุกต์ใช้จนที่เป็นรูปธรรมได้
       
       สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.


credit:http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000096999

อดีตโลกเราอาจมีจันทร์ 2 ดวง

ภาพจำลองแสดงทฤษฎีโลกในอดีตมีดวงจันทร์ 2 ดวง โดยอีกดวงหนึ่งเล็กกว่าดวงจันทร์อีกดวงและพุ่งชนกันอย่างช้าๆ โดยดวงจันทร์ดวงเล็กกว่าพุ่งชนดวงจันทร์ดวงใหญ่กว่า (สเปซด็อทคอม)

นักวิทยาศาสตร์เสนอทฤษฎีใหม่ในอดีตโลกเราอาจเคยมีดวงจันทร์เป็นบริวาร 2 ดวง โดยจันทร์อีกดวงเล็กกว่าและมีขนาดเพียง 1 ใน 3 ของดวงในปัจจุบัน แล้วค่อยๆ ชนกันด้วยความเร็วต่ำกว่าเสียง เชื่อเป็นเหตุผลว่าทำไมอีกด้านที่หันเข้าหาเราจึงแบน ส่วนอีกด้านมีหลุมลึกและภูเขาสูงชันกว่า 3 กิโลเมตร
 
       บีบีซีนิวส์ระบุว่ารายละเอียดของงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ (Nature) โดยนักวิจัยคาดหวังว่า ข้อมูลจากปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) จะสนับสนุนหรือหักล้างทฤษฎีนี้ได้ในปีหน้า ทั้งนี้ เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะเข้าใจว่า ทำไมดวงจันทร์ด้านที่มองเห็นจากโลกนั้นจึงแบน ส่วนอีกด้านจึงมีหลุมลึกและภูเขาที่สูงชันมากกว่า 3,000 เมตร
 
       มีหลายทฤษฎีที่ถูกเสนอขึ้นมาเพื่ออธิบายถึงความแตกต่างของดวงจันทร์ทั้งสองด้าน หนึ่งในทฤษฎีเหล่านั้นคือแรงดึงของโลกกระทำต่อหินหนืด ซึ่งไหลอยู่ได้แผ่นเปลือกดวงจันทร์ ทำให้รูปร่างของดวงจันทร์เป็นเช่นนี้ หากแต่งานวิจัยนี้เสนอแนวคิดที่แตกต่างว่า การชนในอวกาศเป็นสาเหตุ โดยเมื่อประมาณ 4 พันล้านปีก่อนโลกถูกดาวเคราะห์ขนาดเท่าดาวอังคารพุ่งชน และเศษที่เหลือจากการชนกลายดวงจันทร์บริวารของเรา
 
       หากแต่การชนครั้งนั้นยังทำให้เกิดดวงจันทร์อีกดวงที่มีขนาดเล็กกว่าและเกิดจากวัตถุเดียวกัน แล้วติดค้างอยู่ระหว่างแรงดึงดูดของโลกและดวงจันทร์ที่ใหญ่กว่า ซึ่ง ดร.มาร์ติน จูตซี (Dr.Martin Jutzi) จากมหาวิทยาลัยเบิร์น (University of Bern) สวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่าทฤษฎีที่มีอยู่ไม่สมเหตุสมผลต่อการมีดวงจันทร์อยู่เพียงดวงเดียว ส่วนทฤษฎีใหม่นั้นเข้ากันดีกับทฤษฎีกำเนิดโลกที่เกิดจากดาวเคราะห์อีกดวงพุ่งชน
 
       หลังจากติดค้างอยู่ในแรงดึงดูดนานหลายล้านปี จันทร์ดวงเล็กกว่าก็เริ่มกระบวนการพุ่งชนจันทร์ดวงที่ใหญ่กว่าอย่างช้าๆ ด้วยความเร็ว 2.4 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งต่ำกว่าความเร็วเสียงที่เดินทางในของแข็งอย่างหิน โดย ดร.จูตซีกล่าวว่าเป็นการชนที่นุ่มนวล ซึ่งมีความสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงไม่เกิดการสั่นสะเทือนที่รุนแรงหรือเกิดการละลายขึ้น และระหว่างที่เกิดการชนกันนั้น จันทร์ดวงใหญ่กว่าน่าจะมี “มหาสมุทรหินหนืด” ที่มีแผ่นเปลือกปกคลุมอยู่ด้านบน
 
       นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการชนกันนั้นทำให้เกิดวัตถุบนแผ่นเปลือกดวงจันทร์ และยังทำให้เกิดการจัดเรียงหินหนืดใต้แผ่นเปลือกของดวงจันทร์ด้านที่หันเข้าหาโลกใหม่ โดยแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากการสำรวจของยานอวกาศลูนาร์โพรสเปกเตอร์ (Lunar Prospector) ของนาซา
 
       ด้าน ดร.มาเรีย ซูเบอร์ (Dr.Maria Zuber) จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือเอ็มไอที (MIT) ในเคมบริดจ์ สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ขณะที่การศึกษาใหม่สาธิตให้เห็นความน่าจะเป็นมากกว่าเป็นการพิสูจน์ แต่ก็เสริมความเป็นไปได้ว่าการชนกันครั้งใหญ่นั้นทำให้โลกมีดวงจันทร์มากกว่า 1 ดวง
 
       ดร.ซูเบอร์เชื่อว่าจะพิสูจน์ทฤษฎีนี้ได้ด้วยรายละเอียดโครงสร้างภายในของดวงจันทร์จากยานลูนาร์เรคอนเนสซองซ์ออร์บิเตอร์ (Lunar Reconnaissance Orbiter: LRO) ของนาซา กับแผนที่โน้มถ่วงความละเอียดสูง จากปฏิบัติการของยานเกรล (Gravity Recovery and Interior Laboratory: GRAIL) เพื่อศึกษาแรงโน้มถ่วงบนดวงจันทร์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีหน้า
 
       หากแต่ ดร.จูตซีกล่าวว่านักวิทยาศาสตร์อยากจะได้ตัวอย่างของจริงจากดวงจันทร์ในด้านไกลมาพิสูจน์ทฤษฎีของพวกเขามากกว่า และคาดหวังว่าปฏิบัติการเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์หรือปฏิบัติการส่งมนุษย์ไปอวกาศจะช่วยพิสูจน์ทฤษฎีโลกมีดวงจันทร์มากกว่า 1 ดวงได้


ภาพจำลองการชนกันของดวงจันทร์ 2 ดวง (เอพี)

ชมคลิปจำลองกำเนิดดวงจันทร์